จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในราชสำนัก ตอน กำไลมาศ พระราชานุสรณ์แห่งความจงรักภักดี



กำไลมาศชาตินพคุณแท้
ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นยอมยืนสี
เหมือนใจจงตรงคำร่ำพาที
จะร้ายดีขอให้เห็นเป็นเสี่ยงทาย
ตาปูทองสองดอกตอกสลัก
ตรึงความรักรัดไว้อย่าให้หาย
แม้รักร่วมสวมไว้ให้ติดกาย
เมื่อใดวายสวาทดิ์วอดจงถอดเอย


กำไลทองพระราชทานนี้ทำจากบางสะพาน น้ำหนักสี่บาท ทำเป็นรูปตาปูโบราณสองดอกไขว้ปลายตาปูลีบเป็นดอกเดียวกัน ที่วงโดยรอบสลักพระราชนิพนธ์ร้อยกรองข้างต้น




คำว่า “ จงรักภักดี” มีความหมายมากมายเพียงใดนั้น สัมผัสได้จากผู้หญิงคนนี้ เจ้าจอมสดับในรัชกาลที่ 5 เนื่องด้วยตลอดชีวิต 93 ปีของท่าน ไม่มีวันใดที่จะหยุดแสดงความเทิดทูนจงรักภักดีในฐานะภริยาและข้าของแผ่นดิน หม่อมราชวงศ์สดับ นามเดิมว่า “ สั้น” เกิด เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2433 ที่วังกรมหมื่นภูมินทรภักดี หรือวังท่าเตียน ย่านปากคลองตลาด เป็นธิดาของหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี และหม่อมช้อย ครั้นเมื่อท่าน เจริญวัยอายุได้ 11 ขวบ หม่อมเจ้าเพิ่มลาออกจากราชการในตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และย้ายครอบครัวไปอยู่เมืองราชบุรี จึงได้นำธิดาคนนี้ไปอยู่ในวังของ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ พระอัครชายา ต่อมาสมเด็จหญิงพระองค์ใหญ่ ( เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรุมขุนพิจิตรเจษฏ์จันทร์ ) พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ได้ประทานนามใหม่ว่า “สดับ”



เจ้าจอม ม.ร.ว.สดัล ลดาวัลย์


ชีวิตในพระบรม มหาราชวังนั้น ม.ร.ว.สดับได้รับการอุปถัมภ์อยู่ในตำหนักพระวิมาดาเธอฯ เยี่ยงพระญาติ โดยโปรดให้เรียนหนังสือจากครูทั้งภาษาไทยและอังกฤษ รวมถึงฝึกหัดให้เป็นกุลสตรีชาววังที่จะต้องเรียนรู้ทั้งด้านงานฝีมือ เครื่องอาหารคาวหวาน ด้วยเป็นเด็กหญิงที่คล่องแคล่ว ทะมัดทะแมงเฉลียวฉลาด จึงเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายทุกพระองค์ โดยท่านมีหน้าที่ตามเสด็จพระวิมาดาเธอฯ ในกระบวนเสด็จทุกงาน ซึ่งท่านได้บันทึกถึงความรู้สึกในช่วงนั้นว่าสนุกสนานมาก เพราะได้แต่งตัวสวยและได้ออกงานกับเจ้านาย ม.ร.ว.สดับ มาเรียนรู้เรื่องดนตรีและขับร้องเพลงเมื่อตอนอายุ 14 ปี ด้วยเหตุที่รัชกาลที่ 5 ทรงประชวรเมื่อปี 2447 พระวิมาดาเธอฯ จึงทูลเชิญเสด็จมาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆ โดยจัดการทุกสิ่งทุกอย่างถวายเพื่อทรงสำราญพระทัย ซึ่งนอกจากเรื่องเครื่องเสวยแล้ว ยังทรงให้ข้าหลวงที่ร้องเพลงเป็นจัดเป็นกลุ่มขึ้นขับร้องเพลงถวาย เริ่มตั้งแต่ 3 ทุ่มไปจนถึง 2 ยาม เสด็จเข้าในที่แล้วจึงเลิก ด้วยความที่เป็นคนมีน้ำเสียงไพเราะก้องกังวาน แม้ยามพูดยังมีน้ำเสียงนุ่มนวลน่าฟัง ม.ร.ว.สดับ จึงถูกเลือกให้เป็นต้นเสียงในการร้องเพลง แม้พระวิมาดาเธอฯ เกรงจะถูกครหานินทาว่าส่งเสริมหลาน แต่ก็ถูกครูเพลงทั้งหลายร้องขอจึงจำต้องยินยอม และด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะนี้เอง รัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงสนพระทัยในเรื่องดนตรีมาก เมื่อทรงฟังเสียงของ ม.ร.ว.สดับแล้วทรงโปรด จึงออกพระโอษฐ์ขอต่อพระวิมาดาเธอฯ ผู้เป็นอาและเป็นผู้ปกครองในเวลานั้น ในที่สุด ม.ร.ว.สดับ ได้ถวายตัวรับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาท เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2449


ล้นเกล้ารัชกาล ที่ 5 ทรงโปรดเจ้าจอมสดับมากถึงขนาดทรงพระราชนิพนธ์เพลงให้เลย คือในช่วงที่ทรงประชวรอยู่นั้น พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “เงาะป่า” ขึ้นมาเพื่อพระราชทานให้ร้องกัน และมีบทหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงพระราชนิพนธ์ถึงเจ้าจอมสดับว่า " ....แม่เสียงเพราะเอย น้ำเสียงเจ้าเสนาะ เหมือนดังใจพี่จะขาด….." เจ้าจอมสดับรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ด้วยความจงรักภักดีจนเป็นที่สนิทเสน่หา ถึงกับพระราชทานสิ่งของมีค่าอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะ “กำไลมาศ” ของพระราชทานอันเป็นเครื่องแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ยิ่งใหญ่ โดยเจ้าจอมสดับเขียนบันทึกในช่วงนั้นไว้สรุปว่า ตอนนั้นเป็นงานขึ้นพระแท่นพระที่นั่งอัมพร ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงให้เล่นละครเรื่องเงาะป่า เพื่อเก็บเงินคนดูพระราชทานเป็นทุนให้กับ “คนัง” เงาะป่าที่พระองค์ทรงโปรดมาก ปรากฏว่าพระวิมาดาเธอฯ ประชวร คุณจอมสดับจึงต้องเป็นแม่งานเสียเอง โดยต้องรับใช้ในเรื่องตั้งเครื่อง แล้วยังต้องวิ่งมานั่งร้องเพลง ร้องเสร็จก็วิ่งกลับไปยังที่ประทับ “ร้อง เสร็จก็เป็นหน้าที่ข้าพเจ้า ตามเสด็จขึ้นไปรับใช้บนพระที่นั่ง ในวันเฉลิมพระที่นั่งนี้ ทรงพระมหากรุณาสวมกำไลทองรูปตาปูพระราชทานข้าพเจ้า ทรงสวมโดยไม่มีเครื่องมือ บีบด้วยพระหัตถ์ รุ่งขึ้นจึงต้องรับสั่งให้กรมหลวงสรรพศาสตร์พาช่างทองแกรเลิตฝรั่งชาติ เยอรมัน นำเครื่องมือมาบีบให้เรียบร้อย...”



เครื่องเพชรจากยุโรปที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานให้

ในปี 2450 รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสยุโรป ทรงมีพระราชดำริให้เจ้าจอมสดับตามเสด็จในฐานะข้าหลวงของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง นิภานภดล ถึงกับทรงสอนภาษาอังกฤษพระราชทานแก่เจ้าจอมสดับด้วยพระองค์เองก่อนเวลาเสวย พระกระยาหารทุกค่ำคืน แต่ในที่สุดเจ้าจอมก็ไม่สามารถตามเสด็จได้ ซึ่งท่านบันทึกความรู้สึกตอนนั้นว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกทุกข์ทุกข์ เศร้าเศร้า ตลอด 24 ชั่วโมงไม่ได้กินไม่ได้นอน...” และในช่วงพระราชพิธีตอนรัชกาลที่ 5 กำลังจะสด็จนั้น เจ้าจอมสดับหมอบซบหน้าร้องไห้อยู่ตลอดเวลา รัชกาลที่ 5 ทรงแวะประทับยืน พระราชทานพระหัตถ์ให้เจ้าจอมทรงเครื่องขลิบพระนขา ( เล็บ ) ซึ่งท่านเจ้าจอมได้เก็บไว้ใกล้ตัวตลอดมา ครั้นเมื่อเสด็จกลับจากยุโรป ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องเพชรนิลจินดา โดยเฉพาะ เครื่องเพชรชุดใหญ่ที่ทรงสั่งทำจากยุโรป โดยมีพระประสงค์ให้เป็นหลักทรัพย์เลี้ยงชีพในอนาคตแทนตึกแถว หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากประพาสยุโรปไม่นานพระองค์ทรงประชวรและสวรรคต ซึ่งเจ้าจอมสดับบันทึกความรู้สึกในเวลานั้นว่า “ใจ คิดเสียสละได้ทุกอย่าง จะอวัยวะ หรือเลือดเนื้อ หรือชีวิต ถ้าเสด็จกลับคืนมาได้ ข้าพเจ้าคิดว่า เป็นใจที่ติดแน่วแน่ตายแทนได้ ไม่ใช่พูดเพราะๆ ...คุณจอมเชี้อเอาผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งส่งมาให้ข้าพเจ้าบอกว่า ท่านประทานไว้ซับพระบาท ข้าพเจ้าเอาผ้าที่ซับพระบาทแล้วพันมวยผมไว้ แล้วก็นั่งร้องไห้กันต่อไป...”

ตลอดเวลา ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท 8 เดือนเต็ม เจ้าจอมสดับก็ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการเป็นต้นแบบ “นางร้องไห้” หน้าพระบรมศพ และถือเป็นประเพณีนางร้องไห้ครั้งสุดท้ายและชุดสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะหลังจากนั้นก็ไม่มีประเพณีนี้อีกเลย เมื่อ สิ้นรัชกาลที่ 5 นอกจากเจ้าจอมสดับจะอยู่ในความทุกข์โศกแล้ว ยังเจอกับเสียงครหาว่า ท่านเป็นหม้ายอายุเพียง 20 ปีเท่านั้น เกรงว่าจะไม่สามารถครองตัวรักษาพระเกียรติยศอยู่ตลอดไปได้ เพราะนอกจากรูปสมบัติแล้วท่านยังมีทรัพย์สมบัติทั้งเพชรนิลจินดาที่ได้รับ พระราชทานไว้มากมาย อันจะเป็นเหตุให้มีผู้ชายมาหลอก และจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียถึงพระเกียรติยศได้ ส่วนเจ้าจอมสดับเมื่อครองตัวเป็นหม้ายนั้น ท่านตั้งใจแน่วแน่ที่จะรักษาพระเกียรติจนชีวิตจะหาไม่ โดยท่านได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า “ข้าพเจ้าไม่มีใจเหลือเศษที่จะรักผู้ชายใดอีกต่อจนตลอดชีวิต” และท่านก็ได้แสดงความจงรักภักดีตราบจนวาระสุดท้ายของท่านตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาเรื่องทรัพย์สมบัติของท่าน เจ้าจอมสดับจึงถวายคืนเครื่องเพชรพระราชทานแม้ว่าจะเป็นเครื่องรำลึกถึงล้น เกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ก็ตาม มีเพียงของพระราชทานเล็กน้อยที่ท่านได้เก็บเอาไว้คือ กำไลมาศ เท่านั้น เจ้าจอมสดับจึงกลายเป็นคนไม่มีสมบัติ เพราะท่านไม่มีตึกแถวหรือทรัพย์สินอื่นๆ ท่านจึงอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระวิมาดาเธอฯ หลังจากถวายคืนแล้วเจ้าจอมสดับได้รับทราบเกี่ยวกับเครื่องเพชรชุดนั้นอีกครั้ง เดียวว่า ได้นำไปขายยังต่างประเทศ และนำเงินที่ได้ไปสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ข่าวนี้สร้างความยินดีให้กับเจ้าจอมสดับอย่างมากที่จะได้สนองพระมหา กรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 อย่างเต็มศรัทธา ชีวิตที่เหลืออยู่ของเจ้าจอมจึงเดินตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อยึดมั่นเป็นกรอบแห่งจริยวัตรเหนี่ยวรั้งให้ใจสงบและปิดประตูต่อกิเลส ตัณหาทั้งปวง



เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ ในวัยชรา


เจ้าจอมสดับย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในวังสวนสุนันทา ของพระวิมาดาเธอฯ ไม่นานก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เจ้านายหลายพระองค์เสด็จไประทับยังต่างประเทศ และเป็นช่วงเวลาหลังจากที่พระวิมาดาเธอฯ สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เจ้าจอมสดับจึงตัดสินใจออกจาก “วัง” ไปอยู่ “วัด” ละทิ้งชีวิตสาวชาววัง ไปอยู่ “วัดเขาบางทราย” จ.ชลบุรี ด้วยความคิดที่อยากจะสร้างกรอบให้ชีวิตโดยนำหลักธรรมะเข้ามายึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ให้พลัดหลงไปตามกิเลสที่พรางตาอยู่ ความร่มรื่นและความสว่างไสวแห่งเสียงพระธรรมที่พระสงฆ์สวดกล่อมเกลาจิตใจอยู่ทุก เมื่อเชื่อวัน จึงทำให้เจ้าจอมตัดสินใจหันหน้าเข้าหาพระธรรมให้เป็นที่พึ่งทางใจอย่างเป็น จริงเป็นจัง ซึ่งในช่วงแรกได้สมาทานอุโบสถศีลอยู่เป็นประจำ และได้ศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในฐานะพุทธมามะกะที่ดีอย่างเคร่งครัด สิ่งหนึ่งที่ท่านเจ้าจอมปฏิบัติทุกวันมิได้ ขาดคือ สวดมนต์ถวายพระราชสักการะและถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


กระทั่งเมื่อเจ้าจอม สดับอายุครบ 60 ปี หรือที่เรียกกันว่าเข้าช่วงปัจฉิมวัย ท่านจึงคิดอยากจะบำเพ็ญกุศลในแซยิดให้พิเศษยิ่งขึ้นไปอีก จากที่เคยปฏิบัติดังเช่นทุกวัน ท่านตัดสินใจปลงผม นุ่งขาวห่มขาว และขอประทานศีลจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติกายและใจให้บริสุทธิ์ตามวิธีแห่งพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังเป็นการอุทิศพระราชกุศลทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 พระสวามีผู้เป็นที่รักยิ่ง ครั้นเมื่อปี 2506 เจ้าจอมได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้กลับคืนมาอยู่ในพระบรมมหาราชวังอีกครั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ทั้งในยามดีและยามไข้ ด้วยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อให้เจ้าจอมสดับใช้ชีวิตอย่างมีความสุข พอกินพอใช้และเหลือทำบุญบ้าง แม้ช่วงชีวิตที่เข้ามาอยู่ในวังหลวงแล้ว เจ้าจอมยังเดินไปฟังธรรมที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทุกวันอาทิตย์และทุกวันธรรมสวนะมิได้ขาด จวบถึงวัย 92 ปีที่ร่างกายอ่อนแอเดินตามลำพังไม่ได้เท่าที่ควร แล้วจึงได้งดไป และยังได้บริจาคเงินสมทบทุนมูลนิธิสายใจไทยเป็นประจำทุกเดือนๆ ละ 1 พันบาท นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิฯ ในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งเช่นเจ้าจอมสดับนั้น ท่านได้แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีที่ถวายต่อรัชกาลที่ 5 อย่างไม่มีวันสิ้นสุด สิ่งใดที่จะกระทำได้เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์ท่านนั้น เจ้าจอมจะเต็มใจสนองพระคุณทุกอย่างเต็มกำลัง ดังนั้น ชีวิตของเจ้าจอมที่ดำเนินมาหลังจากที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 สิ้นพระชนม์ชีพแล้ว ในทุกวันทุกลมหายใจจึงตั้งใจกระทำความดีถวายอุทิศแด่รัชกาลที่ 5 เสมอมา ดังเช่นตลอดหลายสิบปีที่เจ้าจอมสดับใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ที่วัดเขาบางทรายนั้น ท่านได้ถือศีลสวดมนต์ภาวนา จนได้ทำบันทึกข้อธรรมตามความรู้ความเข้าใจไว้เตือนตน ตั้งแต่ พ.ศ.2478 ( เมื่ออายุได้ 45 ปี ) และบันทึกเป็นช่วงๆ เกือบตลอด 40 ปี จนกลายเป็นหนังสือขนาด 8 หน้ายก เกือบ 500 หน้า ท่านได้ให้ชื่อบันทึกธรรมนี้ว่า “สุตาภาษิต” ซึ่งนับเป็นมรดกที่มีค่าชิ้นหนึ่งทิ้งไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง ได้ศึกษาการเข้าถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตามความเข้าใจและปฏิบัติของเจ้าจอมสดับ กิจวัตรที่เจ้าจอมกระทำเป็นประจำมิได้ขาดคือ ทุกวันที่ 23 ตุลาคม อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 5 และวันที่ 1 เมษายน คล้ายวันเริ่มรับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาท เจ้าจอมจะอัญเชิญพานประดิษฐานของพระราชทานอันมีค่าอย่างยิ่งในชีวิตของท่าน คือ พระบรมทนต์ ซึ่งแกะเป็นองค์พระและเส้นพระเจ้าบรรจุไว้ในล็อกเก็ต รวมทั้งผ้าซับพระบาทออกสดับปกรณ์ พร้อมทั้งนิมนต์พระสงฆ์ถวายพระราชกุศลพิเศษ



เข็มกลัดตราพิณภายใต้พระจุลมงกุฏ ร.5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน
เมื่อ ร.ศ.125 ( พ.ศ.2449 )


ในวันที่ 1 เมษายน 2510 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 60 ปีของการรับราชการเป็นเจ้าจอมในรัชกาลทื่ 5 และเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2513 อันเป็นวันครบรอบอายุ 80 ปี เจ้าจอมสดับก็ได้บำเพ็ญกุศลทางใจด้วยเจริญวิปัสสนากรรมฐาน รวมสำรวมกาย วาจา ใจที่จะไม่ข้องแวะกับโลกภายนอก อันเป็นทางให้เกิดสมาธิชั้นสูงรวบรวมพลังจิตอุทิศกุศลผลบุญทั้งมวล น้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 เป็นเวลา 60 วันและ 80 วัน เป็นการทดแทนการทำพิธีเฉลิมฉลองอย่างอื่น นอกจากนี้ ท่านเจ้าจอมยังถวายความจงรักภักดีสนองพระคุณต่อในหลวงองค์ปัจจุบันอย่างสุด ความสามารถเช่นกัน ด้วยท่านเติบโตมากับวังพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งมีชื่อเสียงทั้งด้านอาหารและงานฝีมือ ดังนั้น ทุกครั้งที่ท่านสบโอกาสจะฝึกฝีมือในการถักนิตติ้งอยู่บ่อยครั้ง เช่น ถักถลกบาตรกรองทอง ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อเสด็จออกทรงผนวช ถักผ้าทรงสะพักกรองทองถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระราชธิดา พระสุนิสาทุกพระองค์ ถึงแม้ว่าขณะนั้นท่านจะมีสายตาฝ้าฟางด้วยอายุที่มากขึ้นก็ตาม แต่ท่านก็มิได้ท้อถอยแต่อย่างใด นอกจากจะเคี่ยวเข็ญถ่ายทอดการถักให้หลานผู้เป็นคุณข้าหลวงตลอดจนเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องจนถักได้แล้ว เจ้าจอมยังขอสนองพระมหากรุณาธิคุณด้วยการถ่ายทอดวิชาการถักให้แก่นักเรียนใน โครงการศิลปาชีพด้วย ด้วยเจ้าจอมสดับมีชีวิต ที่ยืนยาวและเป็นผู้ที่มีจิตเมตตาต่อทุกคน เวลามีคนขอให้ท่านเล่าเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับรัชกาลที่ 5 ท่านจะเล่าด้วยความรู้สึกที่มีความสุขเป็นยิ่งนัก และท่านยังได้ใช้เวลาเขียนบทประพันธ์ถึงประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 ราชประเพณีในวังหลวง อีกมากมายเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับทราบ



เช้าตรู่วันพฤหัสบดีที่ 30 มิ.ย.26 ลูกหลานในตระกูลลดาวัลย์และคนไทยหลายคนต้องเศร้าเสียใจต่อการจากไปอย่างไม่ มีวันกลับของ เจ้าจอมสดับ ด้วยโรคชรา ในวัย 93 ปี ณ โรงพยาบาลศิริราช คุณดุ๊ก-ม.ล.พูนแสง ( ลดาวัลย์ ) สูตะบุตร หลานสาวที่เจ้าจอมสดับให้การดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ในวัยเยาว์ เล่าว่า เจ้าจอมสดับสวมกำไลมาศติดมือจนสิ้นลมหายใจ และคุณดุ๊กเป็นคนถอดกำไลข้อมือนั้นด้วยตัวเอง โดยเล่าถึงสภาพของกำไลมาศว่า “ถึง แม้ว่าคำกลอนที่จารึกไว้ในกำไลมาศจะลบเลือนไปตามกาลเวลา เพราะท่านสวมมาถึง 76 ปี แต่ พระปรมาภิไธย “จุฬาลงกรณ์ ป.ร.” ที่จารึกไว้ด้านในท้องกำไลยังคงเป็นรอยจารึกที่แจ่มชัดเช่นเดิมจนน่าประหลาด ใจมาก” จากนั้นคุณดุ๊กก็ได้นำกำไลมาศและของ พระราชทานอันมีคุณค่าทางจิตใจของเจ้าจอมทั้งหมด เพื่อถวายแด่พระบาทสมด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำของอันเป็นที่รักของเจ้าจอมสดับไว้ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ ( ตรงห้องพระบรรทม ) เจ้าจอมสดับจึงเป็น “เจ้าจอมในรัชกาลที่ 5” คนสุดท้าย ที่มีชีวิตยาวนานมาถึง 5 แผ่นดิน และตลอดชีวิตของท่านได้แสดงถึงความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ในฐานะภรรยาที่มีต่อสามี ในฐานะข้าในรัชกาลที่ 5และรัชกาลที่ 9 รวมถึงในฐานะข้าของแผ่นดิน.




********** ********** **********


dekpakdee

22-11-53

3 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากมายเลยนะคะน้องนาย...ความรักไม่มีวันดับสลาย แม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านไปนานเท่านาน..

    ตอบลบ
  2. เหมาะสมกับคำนั้จริงๆค่ะ จงรักภักดี สุดหัวใจเลยค่ะ

    ตอบลบ