จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับราชสำนัก : ตอน การขอพระราชทานเชิญเสด็จพระราชดำเนิน

การขอพระราชทานเชิญเสด็จพระราชดำเนิน

การขอพระราชทานเชิญเสด็จพระราชดำเนินในโอกาสใด ๆ ก็ตาม มีแนวปฏิบัติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาความเห็นถวาย ตามขั้นตอนต่อไปนี้

๑.ผู้ขอพระราชทานเชิญเสด็จพระราชดำเนิน ทำหนังสือแจ้งเรื่องราวถึงราชเลขาธิการสำนักราชเลขาธิการ หรือ เลขาธิการพระราชวัง สำนักพระราชวัง

๒.สำนักพระราชวัง มีหน้าที่ไปตรวจสถานที่และจัดทำหมายกำหนดการ โดยกำหนดเวลาต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญประจำราชสำนัก

๓.สำนักราชเลขาธิการ รวบรวมข้อมูลเพื่อถวายกราบบังคมทูล เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้ว   เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ร่วมกับกรมโยธาเทศบาล จะไปดำเนินการเตรียมการรับเสด็จฯ ล่วงหน้าก่อนถึงวันเสด็จพระราชดำเนิน

๔.หากเป็นการขอพระราชทานเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปยังจังหวัดต่าง ๆ   ทางจังหวัดมีส่วนในการร่วมพิจารณา  กล่าวคือ ต้องได้รับความเห็นชอบ และสนับสนุนจากทางจังหวัดด้วย

ฉะนั้น การติดตามสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ จึงสามารถสอบถามได้ที่ สำนักราชเลขาธิการ หรือที่สำนักพระราชวัง ในพระบรมมหาราชวัง







ธรรมเนียมการรับเสด็จพระราชดำเนินและข้อปฏิบัติในการเข้าเฝ้าฯ

การรับเสด็จพระราชดำเนินในที่นี้    หมายถึง การเฝ้าฯ รับเสด็จฯ ในงานพระราชพิธี การพระราชกุศลงานรัฐพิธี หรือเสด็จฯ ในงานต่าง ๆ  จะได้แบ่งประเภทดังนี้

๑.การเฝ้าฯ รับเสด็จฯ ในงานพระราชพิธี  การพระราชกุศล  รัฐพิธี ซึ่งเป็นงานหลวงประจำปี ในพระราชฐาน เช่น พระบรมมหาราชวัง

     ๑.๑ งานในพระราชฐาน ผู้มาเฝ้าฯ และรับเสด็จฯ แต่งกายตามหมายกำหนดการ หรือหมายรับสั่งของสำนักพระราชวัง และควรมาถึงก่อนเวลาเสด็จฯ ๓๐ นาที

     ๑.๒ สำนักพระราชวังจะจัดเจ้าหน้าที่ไว้รับรอง และเชิญไปนั่งพักภายนอกพระที่นั่งก่อน

     ๑.๓ เมื่อใกล้เวลาก่อนเสด็จฯ ประมาณ ๕ หรือ ๑๐ นาที เจ้าหน้าที่ผู้รับรองจะเชิญผู้มาเฝ้าฯ เข้าไปนั่งยังที่ซึ่งจัดไว้ในพระที่นั่ง  ตามลำดับชั้นยศ ตำแหน่ง ฝ่ายทหาร พลเรือน


๒. การเฝ้าฯ รับเสด็จฯนอกพระราชฐาน ที่เป็นงานพระราชพิธี รัฐพิธีและงานพิธีต่าง ๆ

     ๒.๑ งานนอกพระราชฐานที่เกี่ยวกับการพระราชพิธี   สำนักพระราชวังออกเป็นหมายกำหนดการหรือหมายรับสั่ง แต่งกายตามกำหนดในหมาย เช่น การพระราชพิธีวันสมเด็จ พระนเรศวรมหาราช ๒๕ มกราคม ถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ที่ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี, วันที่ระลึกมหาจักรี ๖ เมษายน ถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ที่ปฐมบรมราชานุสรณ์สะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ และที่ปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม, วันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม ถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ที่พระลานพระราชวังดุสิต, วันสวรรคตรัชกาลที่ ๖, ๒๕ พฤศจิกายน ถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ที่สวนลุมพินี และวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ๒๘ ธันวาคม ถวายบังคมพระบรมราชานุสรณ์ ที่วงเวียนใหญ่ ธนบุรี

     เมื่อผู้มาเฝ้า ฯ   ถวายบังคมสักการะพระบรมราชานุสรณ์เป็นหมู่เป็นคณะแล้วเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะเชิญให้พัก ณ ปะรำ หรือกระโจมผ้า เพื่อรอรับเสด็จฯ ครั้นใกล้เวลาเสด็จฯ ประมาณ ๕ หรือ ๑๐ นาที   เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะได้เชิญผู้มาเฝ้า ฯ ออกไปยืนเรียงแถวตามลำดับชั้นยศ ตำแหน่ง (ควรจะสวมหมวกเพื่องดงามในการถวายความเคารพ) ต้นแถว  พระราชวงศ์  องคมนตรี  นายกรัฐมนตรี  ประธานสภาฯ ประธานศาลฎีกา ถัดมาเป็นคณะรัฐมนตรี ข้าราชการทหาร พลเรือน ตามลำดับ ยืนแถวตามแนวทางตามเสด็จฯ ผ่าน

     เมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาถึง กองทหารเป่าแตรถวายความเคารพหรือแตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้เฝ้าฯ ถวายความเคารพโดยวันทยหัตถ์ (เพราะสวมหมวก) จนเสด็จฯ ผ่าน     และลด วันทยหัตถ์ เมื่อจบเพลงสรรเสริญพระบารมี (ผู้ไม่สวมหมวกยืนตรง)    เมื่อเสด็จฯ ผ่าน ถวายคำนับ เมื่อจบเพลงสรรเสริญพระบารมี ก็ถวายคำนับ  ปฏิบัติทำนองนี้ทั้งเสด็จ ฯ มาและเสด็จฯ กลับ

     ๒.๒ การเฝ้า ฯ รับเสด็จ ฯ งานถวายผ้าพระกฐินหลวงประจำปี ที่สำนักพระราชวังออกเป็นหมายกำหนดการ และกำหนดการแต่งกายเฝ้า ฯ รับเสด็จ ฯ ผู้ที่ไปเฝ้า ฯ รับเสด็จ ตามหมายกำหนดการ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะได้รับรองเชิญให้นั่งพัก ณ ที่ซึ่งจัดไว้นอกพระอุโบสถตามลำดับชั้นยศ และตำแหน่ง

     งานเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินตามราชประเพณีประจำปี   ที่สำนักพระราชวังออกเป็นหมายกำหนดการแต่งเครื่องแบบเต็มยศ จะมีกองเกียรติยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ พร้อมทั้งแตรวงธงประจำกอง และทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ  ตั้งแถวรับและแซงเสด็จฯ ในวัด เมื่อใกล้เวลาเสด็จฯ ประมาณ ๕ หรือ ๑๐ นาที   เจ้าหน้าที่ผู้รับรองของสำนักพระราชวัง จะได้เชิญราชการ  ผู้มีเกียรติที่มาเฝ้าฯ  ไปยืนเรียงแถวรอรับเสด็จฯ ตามแนวทางลาดพระบาท (ถ้าสถานที่มีไม่พอจะเข้าแถว ก็คงรอเฝ้าฯ ณ ที่ซึ่งจัดไว้นั้น)

     ได้เวลาเสด็จฯ ถึง แตรวงกองทหารเกียรติยศบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้เฝ้าฯ ที่นั่งพักยืนถวายความเคารพ  ผู้มาเฝ้ายืนแถวรับเสด็จฯ ถ้าสวมหมวกทำวันทยหัตถ์  จนสุดเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี และถวายความเคารพเมื่อเสด็จฯ ผ่าน เสด็จฯ เข้าสู่พระอุโบสถ   เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง    จะได้เชิญและนำเฉพาะข้าราชการผู้ใหญ่ เข้าไปเฝ้าฯ ในพระอุโบสถ เมื่อเข้าไปจะต้องถวายคำนับ แล้วยืนอยู่ ณ เก้าอี้ที่จะนั่งเฝ้าฯ ตามชั้นยศและตำแหน่ง เมื่อทรงปฏิบัติในการถวายผ้าพระกฐินประทับพระราชอาสน์ ผู้เฝ้าฯ ถวายคำนับแล้วนั่งได้ เมื่อเสด็จฯ กลับ ก็ปฏิบัติทำนองเดียวกับเมื่อเสด็จฯ มาถึง

     ๒.๓ ราชประเพณีเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน  ถ้าพระอารามหลวงหรือวัดใดที่มีโรงเรียนตั้งอยู่ ย่อมจัดลูกเสือหรือนักเรียนตั้งแถวรับเสด็จฯ ถ้ามีแตรวงลูกเสือด้วย ให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเมื่อเสด็จฯ ถึงและเสด็จฯ กลับ โรงเรียนที่จัดลูกเสือนักเรียนรับเสด็จฯ  ตามระเบียบประเพณี  จะต้องจัดตั้งโต๊ะหมู่ที่บูชาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ แท่นตั้งพระพุทธรูป มีแจกันพานดอกไม้และธูปเทียนพร้อม    ก่อนเสด็จฯ มาถึงหน้าแถวนักเรียน ลูกเสือ  อาจารย์หรือครูใหญ่จุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่ (บางท่านว่าไม่ต้องจุด คณะสงฆ์ลงมติว่าไม่ต้องจุดธูปเทียน) แต่ที่โต๊ะหมู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ควรมีธูปเทียนแพ กระทงดอกไม้ใส่พานตั้งไว้ เป็นการถวายเคารพสักการะในการรับเสด็จฯ อาจารย์หรือครูใหญ่ ยืนที่ข้าง ๆ โต๊ะหมู่หน้าแถวนักเรียนลูกเสือ เมื่อเสด็จถึง ณ ที่นั้น  อาจารย์หรือครูใหญ่ ก้าวออกมาถวายความเคารพ (ถ้าเป็นครูชายสวมหมวก ทำวันทยหัตถ์ ถ้าเป็นครูหญิงถวายความเคารพตามวิธีที่เรียกว่า ถอนสายบัว)      แล้วกราบบังคมทูลรายงานจำนวนอาจารย์ ครู นักเรียน จบแล้ว พับใส่ซองวางในพานเชิญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย   แล้วถอยออกไปถวายคำนับ ก่อนที่จะกลับไปยืนเฝ้าฯ ณ ที่เดิม

     ๒.๔ ในกรณีที่เสด็จฯ ไปถวายผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์  ที่เรียกกันว่าพระกฐินต้นส่วนมากจะเป็นวัดในต่างจังหวัด สำนักพระราชวังจะออกเป็นหมายรับสั่ง ส่วนมากแต่งกายเครื่องแบบปกติขาวเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่เฝ้าฯ เจ้าหน้าที่นอกนั้น หรือข้าราชการในท้องถิ่นแต่งกายเครื่องแบบปกติกากีคอตั้งแบบข้าราชการ หรือกากีคอพับผูกผ้าผูกคอ การเฝ้าฯ รับเสด็จฯ   เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะรับรองข้าราชการและผู้มีเกียรติรอเฝ้าฯ ณ ที่ซึ่งจัดไว้นอกพระอุโบสถ การเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินในต่างจังหวัดนั้น     ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องจัดข้าราชการเข้าแถวรับเสด็จฯ ณ ที่ซึ่งรถยนต์พระที่นั่งเทียบ เมื่อเสด็จฯ ลงจากรถยนต์พระที่นั่ง   ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเข้าไปเฝ้าฯถวายคำนับ (ถ้าสวมหมวกทำวันทยหัตถ์) แล้วกราบบังคมทูลรายงานตนเองและเบิกข้าราชการผู้ใหญ่ที่เฝ้าฯ เช่น

     ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม  ข้าพระพุทธเจ้า. . . . . .ผู้ว่าราชการจังหวัด  ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสเบิกผู้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท (ในกรณีที่ภริยาเฝ้าฯ อยู่ด้วย)   นาง. . . . . .  .   ภริยาข้าพระพุทธเจ้า (จะทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ด้วยก็ได้) แล้วต่อไปควรจะกราบบังคมทูลเฉพาะ ข้าราชการผู้ใหญ่ระดับสูง เช่น รองผู้ว่าราชการจังหวัด  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  นายอำเภอของท้องถิ่นที่เสด็จ ฯ เท่านั้น

     ๒.๕ การเฝ้าฯ รับเสด็จฯ งานรัฐพิธี นอกพระราชฐาน เช่น งานพระราชพิธีจรดพระนังคัล แรกนาขวัญข้าราชการ หรือผู้มีเกียรติที่มีตำแหน่งเฝ้าฯ   เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะเป็นผู้รับรองและกำหนดที่นั่งเฝ้าฯไว้ให้ในพลับพลาพิธี  ซึ่งจัดเป็นมณฑลพิธีทอดที่ประทับส่วนนอกพลับพลาพิธีหรือปะรำ ถ้าจะมีผู้เฝ้าฯ รับเสด็จฯ เป็นหน้าที่ของเจ้าของงาน และเจ้าหน้าที่ของสถานที่โดยความร่วมมือของสำนักพระราชวัง

     ๒.๖ ในกรณีเฝ้าฯ รับเสด็จฯ เช่น

               ก. เสด็จฯ เปิดงานแสดง เปิดตึกโรงพยาบาล โรงเรียน หรือก่อฤกษ์อาคาร ฯลฯ
               ข. เสด็จฯ ทรงยกช่อฟ้า และตัดลูกนิมิต

     ทั้ง ก.และข. ผู้มาเฝ้าฯ ที่รับเชิญ    เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะรับรองเฉพาะผู้ที่แต่งกายเครื่องแบบเฝ้าฯ ไปนั่งรอรับเสด็จฯ ในพลับพลาหรือปะรำพิธีมณฑล     ซึ่งจัดเป็นที่เฝ้าฯ ตามลำดับชั้นยศและตำแหน่ง   ส่วนผู้รับเชิญนอกนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าของงาน

              ค. ก่อนเสด็จฯ มาประมาณ ๕ หรือ ๑๐ นาที เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจะได้เชิญผู้มีเกียรติชั้นผู้ใหญ่และเจ้าของงาน ไปเข้าแถวรับเสด็จฯ ณ ที่รถยนต์พระที่นั่งจะเทียบ เมื่อเสด็จฯ ถึง เสด็จฯ ลงจากรถยนต์พระที่นั่ง ผู้เป็นประธานของงานหรือผู้รับผิดชอบในท้องถิ่น เช่น รัฐมนตรี  ผู้ว่าราชการจังหวัด  เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จฯ  แล้วกราบบังคมทูลเบิกผู้อาวุโสที่มีเกียรติ ณ ที่นั้น    ตามสมควรแก่บุคคลที่จะเบิกเฝ้าฯ ในแถวรับเสด็จฯ นั้น ๆ

     ส่วนการแต่งกาย ผู้มีหน้าที่ในราชการแต่งเครื่องแบบปกติขาว หรือเครื่องแบบกากีตามหมายของสำนักพระราชวังกำหนด

๓. การเสด็จฯ ในงานพระราชพิธี งานรัฐพิธี ที่ออกหมายกำหนดการ แต่งเครื่องแบบเต็มยศจะต้องมีกองทหารเกียรติยศ พร้อมด้วยแตรวงธงประจำกองตั้งรับเสด็จฯ ด้วยหรือไม่นั้น    สำนักพระราชวังจะได้ออกหมายแจ้งกระทรวงกลาโหม  พิจารณาจัดตามระเบียบของทหาร

๔. การเสด็จฯ ในงานพระราชพิธี  งานรัฐพิธี  หรืองานที่มีการกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ สำนักพระราชวังจะได้ออกหมายรับสั่งเป็นงานเฝ้าฯ รับเสด็จฯ แต่งเครื่องแบบปกติ    แต่ถ้างานนั้นเป็นงานที่เสด็จฯ ไปในเขตที่ตั้งกรมกองทหาร หรือค่ายทหาร ฐานทัพของทหาร หรือในกรณีที่จังหวัดนั้น ๆ เป็นที่ตั้งกรมกองทหาร ค่ายทหาร และฐานทัพ  เป็นหน้าที่ของฝ่ายทหาร และผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาจัดทหารกองเกียรติยศรับเสด็จฯ ตามระเบียบของกระทรวงกลาโหม

๕. ตัวอย่างกำหนดการรับเสด็จฯ ที่เป็นงานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ในต่างจังหวัด และในกรุงเทพมหานคร

    
     ๕.๑ มีกองทหารเกียรติยศรับเสด็จฯ และเสด็จฯ ทรงตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ
     ๕.๒ มีกองทหารเกียรติยศรับเสด็จฯ แต่ไม่เสด็จฯ ทรงตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ
     ๕.๓ แบบรับเสด็จฯ ที่ไม่มีกองทหารเกียรติยศ



๖. ข้อควรปฏิบัติในการเฝ้าฯ

     ๖.๑ ถ้ายืนเฝ้าฯ ไม่ควรจะเอามือไขว้หลัง
     ๖.๒ ถ้านั่งเก้าอี้เฝ้าฯ    ไม่ควรจะเอาเท้ายกขึ้นคร่อมเข่า หรือเหยียดออกไปตามสบาย   และไม่ควรเอาแขนพาดพักที่พนักพิงหลังเก้าอี้
     ๖.๓ ไม่ควรสูบบุหรี่ หรือเป่ายานัตถุ์ ขณะนั่งเก้าอี้ หรือยืนเฝ้าฯ หน้าที่ประทับในพระที่นั่ง ในอาคาร หรือพลับพลาปะรำพิธีมณฑล
     ๖.๔ ควรตรวจกระดุมเสื้อกางเกงให้เรียบร้อย
     ๖.๕ ขณะนั่งเฝ้าฯ หรือเข้าแถวยืนเฝ้าฯ ในที่ประทับ ไม่ควรพูดคุยให้มีเสียงดังเกินควร
     ๖.๖ เมื่อประธานสงฆ์ถวายศีล ควรพนมมือเป็นการรับศีลและจบเคารพเมื่อพระถวายศีลจบ
     ๖.๗ พระสงฆ์เริ่มสวดมนต์ ควรพนมมือสดับพระพุทธมนต์  แล้วลดลงก็ได้ในระหว่างสวดมนต์ตามบทคาถาต่าง ๆ
     ๖.๘ พระสงฆ์สวดมนต์จบ และถวายอดิเรก ถวายพระพรลา   ไม่ต้องพนมมือเพราะเป็นการถวายเฉพาะองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ควรพนมมือเคารพเมื่อพระกลับ
     ๖.๙ งานใดมีพระธรรมเทศนา  เมื่อพระผู้เทศน์ถวายศีล ควรพนมมือเป็นการรับศีลในระหว่างพระถวายพระธรรมเทศนา ควรจะพนมมือฟังเทศน์ด้วย  จบก็ควรยกมือพนมเคารพ
     ๖.๑๐ เมื่อมีกิจที่จะต้องลุกออกจากที่เฝ้าฯ  ต้องถวายความเคารพ (คำนับ) และเมื่อจะกลับเข้าประจำที่เดิมก็ต้องปฏิบัติเช่นกัน
     ๖.๑๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ  จากพระราชอาสน์ที่ประทับทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการพระราชพิธีพระราชกุศล ผู้เฝ้าฯ จะต้องยืนขึ้น ถ้าเสด็จฯ ผ่านต้องถวายคำนับทุกครั้ง


การแต่งกายในงานพิธีต่าง ๆ

๑. งานพิธีที่มีหมายกำหนดการให้แต่งกายตามหมายกำหนดการ ซึ่งจะระบุว่าแต่งเครื่องแบบ ปกติกากีคอพับ, กากีคอตั้ง, ปกติขาว ครึ่งยศหรือเต็มยศ โดยเฉพาะงานพระราชทานผ้าพระกฐินและพระราชพิธีสำคัญจะระบุถึงการประดับสายสะพายด้วย   ก็ต้องแต่งกายและประดับสายสะพายตามหมายกำหนดการนั้นถ้าหมายกำหนดการไม่ระบุการสวมสายสะพาย ระบุแต่เพียงว่าแต่งกายเต็มยศก็ต้องแต่งเต็มยศ สวมสายสะพายสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน

๒. งานที่ไม่มีหมายกำหนดการ   แต่มีหมายรับสั่งส่งไปให้เจ้าภาพ   และมีการกำหนดการแต่งกายไว้ในหมายรับสั่งนั้น หมายถึงให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติต้องแต่งกายตามที่หมายรับสั่งกำหนดไว้
 
๓. ในการแต่งกายเข้าเฝ้าหรือมีการเสด็จพระราชดำเนิน    จะต้องแต่งเครื่องแบบปกติขาว ส่วนในต่างจังหวัดข้าราชการสำนักพระราชวังจะแต่งเครื่องแบบปกติกากีคอตั้งหรือคอพับผูกผ้าผูกคอ

หมายเหตุ

     การส่งหมายของสำนักพระราชวัง   สำนักพระราชวังจะส่งหมายเฉพาะงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเท่านั้น งานอื่น ๆ เช่น การรับเสด็จ การส่งเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์องค์อื่น ๆ สำนักพระราชวังจะออกประกาศเป็นทางการ ทั้งทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ผ่านทางกรมประชาสัมพันธ์ โดยไม่มีการส่งหมาย

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น