จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เกร็ดความรู้ : พระนิรันตราย



พระนิรันตราย เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ มีการค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2399 ตามประวัติกล่าวไว้ว่า กำนันอิน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่เมืองปราจีนบุรี ท่านฝันว่าจับช้างเผือกได้ หลังจากนั้นไม่นาน ท่านกับบุตรชายชื่อนายยัง เดินทางเข้าป่าเพื่อขุดมันนกในบริเวณชายป่า ห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณ 3 เส้น ก็ได้พบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำเนื้อหก น้ำหนัก 7 ตำลึง 11 สลึง (ศิลปะพระนิรันตรายแบบนั่งขัดสมาธิเพชร พุทธศิลปะแบบทวารวดี หน้าตัก 3 นิ้ว สูง 4 นิ้ว) ท่านจึงนำไปมอบให้พระเกรียงไกร กระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา พระเกรียงไกรจึงได้พากำนันอินและนายยังเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัว เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปทองคำ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดฯ ว่า สองพ่อลูกมีกตัญญูต่อพระพุทธศาสนาและพระเจ้าแผ่นดิน ขุดได้พระทองคำแล้วไม่ทำลาย หรือซื้อขายเป็นประโยชน์ส่วนตัว แล้วยังมีน้ำใจนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเงินตราให้เป็นรางวัล 7 ชั่ง (560 บาท) แล้วมีพระบรมโองการดำริให้ช่างทำฐานเงินกะไหล่ทองประ ดิษฐานไว้ จนเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระในพระอภิเนาว์นิเวศน์ จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานในหอพระรวมกับพระพุทธรูปสำคัญอีกรวม 7 องค์ พระพุทธรูปทองคำโบราณองค์นี้จะประดิษฐานในหอพระในพระ อภิเนาว์นิเวศน์นานเพียงใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่ในหนังสือตำนานพระพุทธรูปสำคัญพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกไว้ว่าเมื่อ พ.ศ. 2403 และโปรดให้เจ้าพนักงานอัญเชิญพระพุทธรูปทองคำไปประดิษฐาน ณ หอพระเสถียรธรรมปริตคู่กับพระกริ่งทองคำน้อย ซึ่งได้มีคนร้ายลักลอบเข้าหอเสถียรธรรมปริต ลักเอาพระกริ่งทองคำองค์น้อยไป เป็นที่น่าแปลกใจที่กลับไม่เอาพระพุทธรูปทองคำที่ประดิษฐานอยู่คู่กันไปด้วย ทั้งที่องค์พระมีขนาดเขื่องกว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริว่า พระพุทธรูปซึ่งกำนันอินทูลเกล้าฯ ถวายนั้น เป็นทองคำทั้งแท่งและใหญ่กว่าพระกริ่ง ควรที่คนร้ายจะลักองค์ใหญ่ไปแต่กลับละไว้ เช่นเดียวกับผู้ที่ขุดได้ไม่ทำอันตราย เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่แคล้วคลาดถึง 2 ครั้ง พระองค์จึงทรงถวายพระนามว่า "พระนิรันตราย"



จากนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้เจ้าพนักงานทำการหล่อ พระพุทธรูปนั่ง ปางสมาธิเพชร เนื้อทองคำ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 นิ้วครึ่ง เพื่อสวมพระนิรันตรายไว้อีกชั้นหนึ่ง ( พระนิรันตราย ที่ไม่มีเรือนแก้ว ใช้สำหรับตั้งในงานพระราชพิธี )





และโปรดฯ ให้หล่อเป็นเนื้อเงินบริสุทธิ์อีกองค์หนึ่งไว้คู่กันเพื่อสวมทับพระพุทธ รูปลังกา สลักจากงาช้าง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวน่าจะทรงได้รับการถวายเป็นบรรณาการจาก พระภิกษุลังกาเมื่อครั้งทรงพระผนวชเป็นพระวชิรญาณมหาเถระ






เมื่อพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติมีพระอารามมากขึ้น ในปี พ.ศ.2411 พระองค์จึงทรงโปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปพิมพ์เดียวกันเป็นเนื้อทองเหลืองกาไหล่ทอง โดยมีเรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ์ มีอักขระขอมจำหลักลงในวงกลีบบัว แสดงพระนามพระพุทธคุณ เบื้องหน้า 9 เบื้องหลัง 9 ยอดเรือนแก้วเป็นรูปพระมหามงกุฎ จำนวน 18 องค์เท่ากับจำนวนปีที่เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัติ ชั้นล่างของฐานพระซึ่งเป็นที่สำหรับสรงน้ำพระ มีท่อเป็นรูปหัววัว แสดงเป็นที่หมายพระโคตรซึ่งเป็นโคตมะ เพื่อจะทรงพระราชทานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำพระอารามต่างๆ แต่ยังไม่ทันกะไหล่ทอง พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ครั้นรัชกาลพระ บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายช่างทำการกะไหล่ทองคำทั้ง 18 องค์ให้แล้วเสร็จ และพระราชทานไปตามวัดคณะธรรมยุติตามพระราชประสงค์ของพระบรมราชชนก

1. วัดราชาธิวาส
2. วัดบวรนิเวศวิหาร
3. วัดเทพศิรินทราวาส
4. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (ร.5 พระราชทานลำดับที่ 14)
5. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
6. วัดบรมนิวาส
7. วัดมกุฏกษัตริยาราม
8. วัดโสมนัสวิหาร
9. วัดบุรณศิริมาตยาราม
10. วัดราชผาติการาม
11. วัดปทุมวนาราม
12. วัดสัมพันธวงศ์
13. วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ จ.พระนครศรีอยุธยา
14. วัดเสนาสนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา
15. วัดเขมาภิรตาราม จ.นนทบุรี
16. วัดยุคันธราวาส จ.นนทบุรี
17. วัดบุปผาราม
18. วัดเครือวัลย์









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น