จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับราชสำนัก : ตอน การขอพระราชทานให้ทรงประกอบพิธีสมรส

การขอพระราชทานให้ทรงประกอบพิธีสมรส

การขอพระราชทานให้ทรงประกอบพิธีสมรส  ที่เรียกว่า "การขอพระราชทานน้ำสังข์" มีอยู่ ๒ แบบ คือ

๑. แบบเป็นทางการ
๒. แบบส่วนพระองค์ ซึ่งเรียกว่า "น้ำสังข์ข้างที่"

สำหรับหลักเกณฑ์การพระราชทานนั้น ส่วนใหญ่มักจะขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์เหล่านี้คือ

๑. พระราชทานให้แก่ผู้ที่ทรงรู้จัก และคุ้นเคย
๒. ทรงรู้จักบิดา และมารดา ของผู้ขอพระราชทาน
๓. ผู้บังคับบัญชา เป็นผู้ขอพระราชทานให้ ในกรณีที่เป็นตำรวจ ทหาร หรือพลเรือน ที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ ตามข้อ ๑ และข้อ ๒
๔. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นกรณีพิเศษ ผู้ขอพระราชทานต้องทำหนังสือยื่นต่อสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณา พร้อมทั้งแนบวันเดือนปีเกิดของคู่สมรส และสถานที่ติดต่อมาด้วย

ระเบียบปฏิบัติในงานสมรสซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพิธีพระราชทาน

          เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะทรงประกอบพิธีสมรสพระราชทานแล้ว   คู่สมรสจะต้องติดต่อสำนักพระราชวัง พร้อมทั้งแจ้งรายชื่อสักขีทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง สักขีจะเป็นจำนวนฝ่ายละเท่าใดก็ได้ รวมทั้งบิดามารดาหรือผู้ปกครองของแต่ละฝ่ายด้วย  ถ้าคู่สมรสประสงค์จะจดทะเบียนสมรสทางราชการด้วย ก็ให้แจ้งสำนักพระราชวังทราบ เพื่อสำนักพระราชวังจะได้เชิญนายอำเภอท้องถิ่นมารับจดทะเบียนให้  การจดทะเบียนทางราชการนี้     คู่สมรสจะต้องเสียค่าธรรมเนียมจดทะเบียนนอกสถานที่ให้อำเภอในวันจดทะเบียน ๒๐๐ บาท ตามระเบียบ

การเฝ้าฯ ถวายตัว

ในกรณีที่คู่สมรสยังไม่เคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามประเพณี บิดามารดา หรือผู้ปกครองจะต้องนำคู่สมรสเข้าเฝ้าฯ ถวายตัว ปัจจุบันปฏิบัติดังนี้

           ในวันที่ทางราชการนัดหมาย  บิดามารดาหรือผู้ปกครองนำคู่สมรสไปยังสถานที่เฝ้าฯ พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนแพมีพานรองคู่ละ ๑ ชุด นำพานดอกไม้ธูปเทียนวางบนโต๊ะ เปิดกรวยคลุมกระทงดอกไม้ไว้ คู่สมรสยืนรอเฝ้าฯ หลังโต๊ะดอกไม้ธูปเทียน  และบิดามารดาหรือผู้ปกครองยืนหลังคู่สมรส เมื่อเสด็จออก ทุกคนถวายความเคารพ ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง กราบบังคมทูลเบิกคู่สมรสเฝ้าฯ เมื่อขานชื่อผู้ใด ผู้นั้นถวายความเคารพ เมื่อกราบบังคมทูลเบิกครบแล้ว เสด็จขึ้น ทุกคนถวายความเคารพ

ระเบียบปฏิบัติวันทรงประกอบพิธี

          คู่สมรสต้องนำดอกไม้ธูปเทียนแพพร้อมทั้งพานรองไปทูลเกล้าฯ ถวายคนละ ๑ ชุด พานดอกไม้ธูปเทียนนี้นำไปวางบนโต๊ะที่สำนักพระราชวังจัดไว้ เมื่อใกล้เวลาเสด็จออก คู่สมรสเข้ายืนหลังโต๊ะวางดอกไม้ธูปเทียน ชายยืนซ้ายหญิงยืนขวา สักขียืนเรียงแถวหลังคู่สมรส สักขีฝ่ายชายทั้งหมดยืนทางขวา (หลังคู่สมรสหญิง) ต่อมาทางซ้ายเป็นสักขีฝ่ายหญิงทั้งหมด (หลังคู่สมรสชาย) สักขีแต่ละฝ่ายให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองคู่สมรสแต่ละฝ่ายยืนต้นแถว  ด้านขวามือของคู่สมรสมีโต๊ะวางสมุดทะเบียนสมรสของหลวง พร้อมทั้งแท่นปากกา นายทะเบียนสำนักพระราชวังยืนอยู่ข้างโต๊ะ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ เข้าห้องพิธีเมื่อเสด็จฯ พ้นพระทวาร ทุกคนที่อยู่ในห้องพิธีถวายความเคารพ และเมื่อประทับนั่งแล้วทุกคนถวายความเคารพอีกครั้งหนึ่ง

          ต่อจากนั้นคู่สมรสทั้งสองเดินไปหน้าที่ประทับ โดยชายเดินหน้าให้ระยะห่างกันเพียงเล็กน้อย เมื่อใกล้ที่ประทับให้ลดตัวลงแล้วไปหมอบหน้าที่ประทับ    ให้ระยะห่างพระองค์พอที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯจะพระราชทานน้ำสังข์ถึง(การหมอบที่ถูกต้อง เข่าขวาข้างที่ยื่นออกจะต้องอยู่กลางแขนทั้งสองข้าง ปลายเท้าเก็บ) เมื่อหมอบแล้ว คู่สมรสกราบถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๑ ครั้ง  และผินไปกราบสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ๑ ครั้ง แล้วหมอบประนมมือ ผินตัวทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก้มศีรษะรับพระราชทานน้ำสังข์

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงรดน้ำสังข์ลงเหนือศีรษะชาย  แล้วชายเงยศีรษะขึ้นรับพระราชทานใบมะตูม ก่อนจะรับพระราชทานทำ "เอางาน" ก่อนรับพระราชทานแล้วเหน็บใบมะตูมไว้เหนือหูขวา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงรดน้ำสังข์และพระราชทานใบมะตูมแก่หญิง   ทำเช่นเดียวกับชาย คู่สมรสทั้งสองเงยหน้าขึ้นเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในอิริยาบถหมอบประนมมือตามเดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงเจิมพระราชทานชาย และทรงเจิมพระราชทานหญิง เมื่อทรงเจิมพระราชทานผู้ใดเสร็จผู้นั้นกราบถวายบังคม เมื่อทรงเจิมพระราชทานแล้ว คู่สมรสคลานถอยหลังออกมาเล็กน้อย แล้วลุกขึ้นยืนเดินตามแนวทางที่เดินเข้ามา  ผ่านโต๊ะวางดอกไม้ธูปเทียนเลยไปยังโต๊ะวางสมุดทะเบียนสมรส เมื่อถึงโต๊ะวางทะเบียนสมรสแล้ว หญิงรออยู่ก่อน ชายถวายความเคารพ แล้วคุกเข่าโดย ลงเข่าซ้าย ตั้งเข่าขวา ลงชื่อและนามสกุลในสมุดทะเบียน เมื่อลงชื่อแล้วลุกขึ้นยืนถอยออกมาเล็กน้อย ถวายความเคารพแล้วยืนรออยู่ หญิงถวายความเคารพ คุกเข่าลง โดยลงเข่าซ้ายหรือทั้งสองเข่า  แล้วลงชื่อ และนามสกุลในสมุดลงทะเบียนลงชื่อแล้วลุกขึ้นยืน ถวายความเคารพ คู่สมรสทั้งสองเดินกลับไปยืนหลังโต๊ะวางดอกไม้ธูปเทียนตามเดิม  โดยชายเดินนำเมื่อถึงที่ยืน ถวายความเคารพทั้งสองคน ต่อจากนั้นนายทะเบียนจะนำสมุดทะเบียนไปทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แล้วนำกลับไปที่เดิม ลำดับต่อไป สักขีเดินไปลงชื่อและนามสกุลในสมุดทะเบียนที่ละคน เรียงลำดับดังนี้ บิดามารดา หรือผู้ปกครองฝ่ายชาย บิดามารดา หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง สักขีของฝ่ายชายทุกคน สักขีของฝ่ายหญิงทุกคน การลงชื่อก็ทำเช่นเดียวกับคู่สมรส  คือ ถวายความเคารพ คุกเข่าซ้าย ลงชื่อ และนามสกุลในสมุดทะเบียน ลุกขึ้น ถวายความเคารพ เดินกลับไปยืนที่เดิมต่อจากนั้นนายทะเบียนจะลงชื่อกำกับในสมุดแล้วปิดสมุดทะเบียน เมื่อนายทะเบียนปิดสมุดทะเบียนแล้ว คู่สมรสทั้งสองถวายความเคารพ แล้วเปิดกรวยคลุมกระทงดอกไม้ วางคว่ำไว้บนโต๊ะข้าง ๆ พาน แล้วถวายความเคารพอีกครั้ง

          ต่อจากนั้นคู่สมรสทั้งสองเดินเข้าไปเฝ้าฯ เฉพาะพระพักตร์เหมือนครั้งแรก เมื่อหมอบแล้ว กราบถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานเงินทุนแก่คู่สมรส ชายเป็นผู้รับพระราชทาน กราบ ทำเอางาน แล้วหงายมือขวารับพระราชทานถุงเงิน ลำดับต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานพระบรมราโชวาท และพระราชทานพร  คู่สมรสหมอบประนมมือเมื่อจบพระบรมราโชวาท คู่สมรสกราบถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ   คลานถอยหลังออกมาเล็กน้อย ลุกขึ้นยืน แล้วเดินกลับไปยืนที่เดิม โดยฝ่ายหญิงเดินหน้า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประทับยืน ทุกคนในห้องพิธีถวายความเคารพส่งเสด็จฯ ต่อจากนั้นคู่สมรสไปจดทะเบียนสมรสทางราชการนอกห้องพิธี โดยมีผู้ใหญ่แต่ละฝ่ายลงชื่อเป็นพยานฝ่ายละ ๑ ท่าน

บทผนวก

๑. ดอกไม้ธูปเทียนแพ ควรใช้ธูปเทียนแพขนาดใหญ่ เรียงธูปไว้บนเทียน วางกระทงดอกไม้ มีกรวยคลุมไว้บนธูป มีพานรอง

๒.เครื่องแต่งกายชาย ถ้าเป็นผู้ที่มีเครื่องแบบราชการหรือเครื่องแบบองค์การของรัฐ  แต่งเครื่องแบบปกติขาว ถ้าไม่มีเครื่องแบบราชการ แต่งเครื่องแบบขอเฝ้าฯ หญิงแต่งกายแบบสากลหรือแบบไทย

๓.เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ปฏิบัติราชการ  คู่สมรสจึงไม่จำเป็นต้องมอบสิ่งของหรือบำเหน็จรางวัลให้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น