จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในราชสำนัก ตอน พระราชพิธีจองเปรียง และ พระราชพิธีลอยพระประทีป




พระราชพิธีจองเปรียง และ พระราชพิธีลอยพระประทีป




ลอยกระทงขอขมาแม่คงคา
สืบสานตำนานพระร่วงเจ้า
เพื่อคัดดาวดวงเด่นเป็นสักขี
เพื่อสร้างความรู้รักสามัคคี

เพื่อประเพณียังอยู่คู่ชุมชน
ลอยกระทง ลอยเคราะห์กระเทาะโศก
ลอยกระทงเสี่ยงโชคปีละหน
อธิษฐาณริมธารผ่านสายชล

อภิบาลผู้คนฉ่ำอุรา
กายกรรม มโนกรรม วจีกรรม
เคยเหยียบย่ำหยามหลู่มิรู้ค่า
อภิวันท์กรานต์กราบขอขมา
แม่คงคาแม่แสนดีแม่มีคุณ.

การลอยพระประทีปหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ลอยกระทงนั้นเป็นเทศกาลรื่นเริงเก่าแก่ที่เป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไป หลายคนเข้าใจว่าเทศกาลรื่นเริงนี้มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยมีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระสนมเอกในพระร่วงเจ้าเป็นผู้คิด ประดิษฐ์กระทงดอกไม้สำหรับลอยเพื่อสักการะพระพุทธบาทและขอขมาพระแม่คงคา หลายคนยังเข้าใจอีกว่าเทศกาล รื่นเริงนี้มีที่มาจากการลอยโคมหรือที่โบราณเรียกว่า “พิธีจองเปรียง” ซ้ำร้ายหลายคนยังไพล่เข้าใจไปอีกว่า “พิธีจองเปรียง” หรือการลอยโคมก็คือพิธีเดียวกับ ”เทศกาลยี่เป็ง” ของทางภาคเหนือ เพราะคิดว่าพิธีจองเปรียงหรือลอยโคมก็คือการปล่อยโคมไฟลอยขึ้นฟ้า แต่มีน้อยคนนักที่จะทราบที่มาของเทศกาลลอยกระทงอย่างแท้จริง



ปัจจุบันคนโดยทั่วไปมักเข้าใจว่าการพระราชพิธีจองเปรียง หรือ ลอยโคม นั้นเป็นที่มาหรือต้นเค้าแห่งพระราชพิธีลอยพระประทีป หรือ ลอยกระทงใน ปัจจุบัน อาจเป็นเพราะระยะเวลาของการจัดพิธีทั้งสองดังกล่าวที่คาบเกี่ยวกัน คือ พระราชพิธีจองเปรียงนั้นปีใดมีอธิกมาสคือมีเดือน ๘ สองหน จะยกโคมในวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๑๒ จนถึง วันแรม ๒ ค่ำ จึงลดโคมลง ถ้าปีใดไม่มีอธิกมาสยกโคมในวันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๑๒ จนถึงวันขึ้น ๒ ค่ำเดือนอ้าย และการลอยกระทงนั้นปัจจุบันนิยมจัดกันวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ หรืออาจจะเป็นด้วยเหตุที่ว่าชื่อลำลองของพระราชพิธีจองเปรียงซึ่งก็คือ “ลอยโคม” นั้นมีความใกล้เคียงหรือคล้ายกับชื่อ “ลอยกระทง” จึงทำให้คิดกันไปว่าลอยโคมก็คือการเอาโคมมาลอยลงน้ำ และโคมนั้นต่อมาก็พัฒนามาอยู่ในรูปของกระทงในที่สุด หรืออาจจะมาจากเนื้อความในหนังสือเรื่อง นางนพมาศ ซึ่งเป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวของนางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในพระร่วงเจ้า แห่งราชอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวนี้อาจเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก




ในหนังสือเรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ตอนที่ว่าด้วยพระราชพิธีจองเปรียงนั้นได้กล่าวถึงสติปัญญาความสามารถของท้าว ศรีจุฬาลักษณ์ว่าเป็นผู้คิดประดิษฐ์กระทงรูปดอกกระมุทหรือดอกบัวซึ่งประดับ ด้วยประทีปที่ทาด้วยเปรียงถวายพระร่วงเจ้าเพื่อทรงลอยในพระราชพิธีจองเปรียง ดังความต่อไปนี้

“ฝ่ายสนมกำนัลก็ ทำโคมลอยด้วยบุปผชาติเป็นรูปต่าง ๆ ประกวดกันถวายให้ทรง อุทิศบูชาพระบวรพุทธบาท ซึ่งประดิษฐานยังนัมมานที และข้าน้อยก็กระทำโคมลอยคิด ตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมทั้งปวงจึงเลือกผกาเกสรสีต่าง ๆ ประดับเป็นรูป ดอกกระมุทบานกลีบรับแสงจันทร์ใหญ่เท่ากงระแทะทั้งเสียบแซมเทียนธูปและ ประทีป น้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค ครั้นเพลาพลบค่ำ สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จลงพระที่นั่ง ชลพิมาน พร้อมด้วยพระอัครชายาพระบรมวงศ์และพระสนมกำนัล นางท้าวชาวชะแม่ทั้งปวง ฝ่ายนางท้าวชาวชะแม่ก็ลอยโคมพระราชเทพี พระวงศานุวงศ์โคมพระสนมกำนัล เป็นลำดับกันมา ถวายให้ทอดพระเนตรและทรงพระราชอุทิศ ครั้นถึงโคมรูปดอกกระมุทของข้าน้อย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรพลางทางตรัสชมว่าโคมลอยอย่างนี้ งามประหลาดยังหาเคยมีไม่ เป็นโคมของผู้ใดคิดกระทำ ท้าวศรีราชศักดิ์โสภาก็กราบทูล ว่าโคมของนพมาศธิดาพระศรีมโหสถ ครั้นทรงทราบก็ดำรัสถามข้าน้อยว่าทำโคมลอยให้ แปลกประหลาดจากเยี่ยงอย่างด้วยเห็นเหตุเป็นดังฤๅ ข้าน้อยก็บังคมทูลว่านักขัตฤกษ์วัน เพ็ญเดือน ๑๒ พระจันทรแจ่มแสงปราศจากเมฆมลทิน ถ้าชาติอุบลเหล่าใดบาน ผกาเกสรรับแสงพระจันทร์แล้วก็ได้ชื่อว่าดอกกระมุท ข้าพระองค์จึงทำโคม ลอยเป็นรูปดอกกระมุท ซึ่งบังเกิดอยู่ยังนัมมทานที่อันเป็นที่พระบวรพุทธ บาทประดิษฐานกับแกะรูปมยุราวิหกหงส์ ประดับ และมีประทีปเปรียงเจือด้วยไข ข้อพระโคถวายในการทรงพระราชอุทิศครั้งนี้ ด้วยจะให้ถูกต้องสมกับนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียง โดยพุทธศาสน์ไสยศาสตร์ ครั้นสมเด็จ พระร่วงเจ้าได้ทรงสดับ ก็ดำรัสว่าข้าน้อยนี้มีปัญญาฉลาดสมที่เกิดในตระกูล นักปราชญ์ กระทำถูกต้องควรจะถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ จึงมีพระราชบริหารบำหยัดสาปสรรว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับในสยามประเทศ ถึงกำหนด นักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน”




จากเนื้อความดังกล่าวข้างต้นนี้เองที่กลายมาเป็นกรอบความคิดของคนปัจจุบัน ให้เข้าใจว่าการลอยกระทงนั้นมีที่มาจากพระราชพิธีจองเปรียง ความเชื่อดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอนถ้าบุคคลผู้นั้นไม่เชื่อ ว่า นางนพมาศมีตัวตนจริง และเนื้อความที่ปรากฏในตำรับท้าวศรี-จุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศนี้เป็นบันทึก เหตุการณ์ของนางนพมาศจริง แต่หากได้พิจารณาเนื้อความตลอดจนสำนวนภาษาที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้แล้วก็จะพบ ปัญหาบางประการที่ทำให้คิดไปได้ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่น่าจะเก่าแก่ถึงขนาด สมัยสุโขทัย ปัญหาดังกล่าวก็คือปัญหาเรื่องการใช้สำนวนภาษาเพราะหากเราเอาสำนวนภาษาที่ ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ไปเปรียบเทียบกับหนังสือหรือจารึกต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัย เช่น ไตรภูมิกถาของพระมหาธรรมราชา หรือ พระยาลิไทยซึ่งเป็นหนังสือที่แต่งเป็นความเรียงร้อยแก้วที่เชื่อกันว่าแต่ง ในสมัยสุโขทัยเช่นกัน จะพบว่าสำนวนภาษาที่ใช้นั้นผิดกันมาก จนไม่น่าจะเป็นงานเขียนในยุคเดียวกันหรือใกล้เคียงกันดังจะเห็นได้จากสำนวน ภาษาของไตรภูมิกถาดังต่อไปนี้

“เนื้อความในไตรภูมิกถานี้มีในกาลเมื่อ ใดไส้ และมีแต่ในปีระกาโพ้นเมื่อศักราชได้ ๒๓ ปี ปีระกา ๔ เพ็งวันพฤหัสบดีวาร ผู้ใดหากสอดรู้บมิได้ไส้สิ้น เจ้าพระญาเลไทยผู้เป็นลูกแห่งเจ้าพระญาเลลิไทย ผู้เสวยราชสมบัติในเมืองศรีสัชชนาไลยและสุโขทัย และเจ้า พระญาเลลิไทยนี้ธเป็นหลานเจ้าพระญารามผู้เป็นสุริยวงษ์ และเจ้าพระยาเลไทยได้เสวยราชสมบัติในเมืองสัชชนาไลยอยู่ได้ ๖ เข้า จึงได้ไตรภูมิถามุนใส่เพื่อใด ใส่เพื่อมีอัตถพระ อภิธรรมและจะใคร่เทศนาแก่พระมารดาก่อน”



จากตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นซึ่งตัดตอนมาจากบานแพนกในไตรภูมิพระร่วงนั้นจะพบ ตัวอย่างการใช้สำนวนภาษาที่มีความแตกต่างกับการใช้ภาษาในตำรับท้าวศรี จุฬาลักษณ์อย่างมาก จนทำให้ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นในสมัยเดียวกัน จึงนำไปสู่ปัญหาในข้อต่อมาว่าแล้วตัวนางนพมาสหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์นี้แต่ง ในสมัยใดกันแน่ และเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ในประเด็นดังกล่าวนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าเรื่องตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นี้แต่ง ในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง เพราะดูจากการใช้ภาษาแล้วไม่น่าจะเก่าไปกว่าสมัยรัชกาลที่ ๒ หรือรัชกาลที่ ๓ อีกทั้งยังทรงเคยทอดพระเนตรเห็นต้นฉบับเรื่องตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์จากเจ้า นายฝ่ายในพระองค์หนึ่งจึงทำให้ทรงทราบว่าเรื่องตำรับท้าวศรจุฬาลักษณ์นี้พระ บาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นทรงเป็นผู้พระราชนิพนธ์เองไม่ใช่ตัว นางนพมาศบันทึกไว้แต่อย่างใด


แม้ความจริงเรื่องประวัติวรรณคดีตลอดจนสมัยที่แต่งจะระบุแน่ชัดว่าเรื่อง ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นี้จะแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เองไม่ใช่สมัยสุโขทัย แต่อย่างใด แต่ก็อาจมีผู้แย้งว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจจะทรงนำเค้ามูล เดิมมาพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ก็ได้ ถ้าความจริงเป็นดังนั้นก็น่าจะปรากฏ “แต่ นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับในสยามประเทศ ถึงกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมทานทีตราบเท่า กัลปาวสาน” แต่จากหลักฐานที่ปรากฏในวรรณคดีที่มีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกับการพระราชพิธี เรื่องต่าง ๆ ในสมัยต่อจากสุโขทัยทั้งสมัยอยุธยาอย่างเรื่อง “โคลงทวาทศมาส” และในสมัยรัตนโกสินทร์คือเรื่อง “โคลงพระราชพิธีทวาทศมาศ” พระนิพน์ในสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และ “พระราชพิธี ๑๒ เดือน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่างก็ปรากฏเนื้อความในลักษณะที่ว่าการพระราชพิธีจองเปรียงและพระราชพิธีลอย พระประทีปนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด



ประเพณีพระเจ้าแผ่นดินทรงลอยพระประทีบและคนทั่วไป ลอยกระทงนั้นในพระราชนิพนธ์พระราชพิธี ๑๒ เดือน ว่าเป็นประเพณีที่มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยฝ่ายเหนือโน้นแล้ว เรือทอดทุ่นในพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร แต่สำหรับนางนพมาศ ซึ่งว่าเป็นพระสนมเอกในพระร่วงเจ้า ผู้แต่งตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ โดยอ้างไว้ในเรื่องนั้นเองว่าเป็นประวัติของนาง และนางเป็นผู้คิดประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นมาถวายพระร่วง ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพระราชสันนิษฐาน และทรงสันนิษฐานว่า น่าจะมิใช่นางนพมาศสมัยสุโขทัยแต่ง สำนวนของผู้แต่งน่าจะอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง โดยเฉพาะการเผลอกล่าวถึงชาวยุโรป ซึ่งในสมัยสุโขทัยยังไม่มีเข้ามาวุ่นวาย ทำให้ทรงพระราชสันนิษฐาน และทรงสันนิษฐานต่อไปว่าสำนวนโวหารน่าจะเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ ด้วยซ้ำไป ทรงพระราชนิพนธ์โดยสมมุติพระองค์เองเป็นนางนพมาศ เพื่ออบรมสั่งสอนพระสนมบริจาริกา และนางในทั้งหลายในราชสำนักของพระองค์ ทั้งนี้อาจจะทรงนำเค้าที่เล่าๆ กันมาถึงเรื่องนางนพมาศสมัยสุโขทัย ซึ่งนางนพมาศอาจจะมีตัวจริงหรือไม่มีเป็นเพียงตำนานก็ได้ อย่างไรก็ตาม พระราชประเพณีลอยพระประทีปก็มีต่อมาลงมาเรื่อยๆ จากสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เสด็จพระราชดำเนินลงลอยพระประทีปตรงพระตำหนักแพลอย (หน้าท่าราชวรดิฐปัจจุบันนี้) เป็นการเสด็จฯออกนอกกำแพงพระราชวังและนอกกำแพงพระนคร จึงต้องจัดการป้องกันรักษาพระองค์อย่างแข็งแรง พนักงานกรมต่างๆ ทั้งกรมวัง กรมทหาร กรมพระตำรวจ กรมอาสา ฯลฯ ลอยเรือล้อมวงทอดทุ่นเป็นสามสาย สายใน สายกลาง และสายนอก สายละประมาณยี่สิบลำ หน้าพระตำหนักแพลอยทอดเรือบัลลังก์สองลำขนานกัน เรือบัลลังก์ลำหนึ่งสำหรับเสด็จลงจุดพระทีปและประทับทอดพระเนตร เรือบัลลังก์ลำหลังจัดเป็นที่บรรทม ที่สรงลงพระบังคน และทอดเครื่องเสวย มีพระสุธารสเป็นต้น เพราะมักจะเสด็จลงประทับตั้งแต่หัวค่ำไปจนสิ้นเวลาลอยประทีป ในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ นั้น กระทงหลวงทำเป็นเรือต่างๆ ประดิษฐ์รูปสัตว์ต่างๆ มีเรือหยวกบริวาร ๕๐๐ ทรงจุดประทีปเรือหลวง แล้วก็เรือสำเภาของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี เรือพระบรมวงศานุวงศ์ แล้วจึงโปรดฯให้ปล่อยเรือกระบวนของข้าราชการ จุดประทีปลอยมากลางน้ำระหว่างทุ่นสายในกับเรือบัลลังก์ที่ประทับ ในรัชกาลที่ ๑ มีเหตุ พระองค์เจ้าจันทบุรีพระชันษา ๕ ปี พลัดตกลงไปในน้ำระหว่างเรือบัลลังก์ก็จอดขนานกันในขณะตามเสด็จฯลงลอยพระประทีปนี้ ซึ่งเคยเล่ามาแล้ว



********** ********** **********

dekpakdee
20-11-53

2 ความคิดเห็น:

  1. ยิ่งค้นหายิ่งน่าสนใจ ยิ่งอ่านยิ่งทำให้อยากรู้ พี่รู้สึอดีตเป็นเริ่องราวที่น่าสนใจและน่าค้นหามากค่ะ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณคับพี่ฟางที่สนใจเรื่องราวที่คนรุ่นใหม่ไม่แยแส

    ตอบลบ