จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในราชสำนัก ตอน พระบรมโกศ โกศ และ พระราชทาน




เมื่อได้ทำพิธีรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพแล้ว ก็มาถึงการนำศพเข้าโกศ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในขั้นตอนนี้จะเป็นเจ้าพนักงานภูษามาลา ผมเรียกว่าสนมพลเรือนตลอดเพราะคิดว่าภูษามาลาจะถวายการปฏิบัติ เฉพาะพระศพเจ้านายเท่านั้น ท่านผู้สันทัดกรณีแก้ว่าไม่ใช่แบบนั้น สนมพลเรือนจะทำงานประเภทยกแยกแบกหาม การสุกำศพจะต้องกระทำโดยภูษามาลาเท่านั้น ปัจจุบันยังมีเจ้าพนักงานภูษามาลารับราชการอยู่ร่วมสามสิบคน ศพหรือพระศพ พระบรมศพ ที่นอนอยู่บนเตียงตั่งจะถูกยกเข่าขึ้นแนบมากับท้อง จัดเหมือนท่านั่งชันเข่า แล้วรวบแขนเอามืออ้อมขามาไว้ข้างหน้า ผมลงนั่งยองๆทำท่าเอาแขนอ้อมเข่าไปพนมมือให้ท่านดู ซึ่งทำได้ยากยิ่งแต่ก็ทำได้ ท่านหัวเราะบอกว่าอย่างคุณนี่สบายมาก โดนกัปปาสิกะ ( เชือกทำด้วยด้ายดิบขาว ) ขันชะเนาะทีเดียวก็เข้าที่ ผมยังไม่หายสงสัยว่าร่างกายขนาดผมนี่เข้าโกศจะต้องมีคนขย่มบ่าด้วยหรือ เปล่า ท่านผู้สันทัดกรณี ทำหน้างงว่าทำไมต้องทำ ก็ใช้โกศใหญ่หน่อยซี เอ้อ นี่ก็ความรู้ใหม่นะครับ โกศมิได้มีขนาดเดียว แต่มีครบทุกขนาด ตั้งแต่ขนาดผู้หญิง ผู้ชาย อ้วนหรือผอม “ ส่วนใหญ่ศพที่เข้าโกศมักจะเจ็บป่วยก่อนตาย ร่างกายจะผ่ายผอมเหลือนิดเดียว ที่อุบัติเหตุตาย มีน้อยมาก” ท่านเล่า โกศที่กำลังพูดถึงนี้คือโกศลองใน ส่วนโกศลองนอกไม่ต้องเป็นห่วง เพราะมีขนาดใหญ่มากอยู่แล้ว
พระโกศ มีอยู่ 2 ชั้นด้วยกัน คือ ชั้นใน เรียกว่า “โกศ” ทำด้วยเงินสำหรับกษัตริย์เท่านั้น ส่วนทองแดงหรือเหล็กสำหรับราชวงศ์และข้าราชการ ชั้นนอก เรียกว่า “ลอง” ทำด้วยโครงไม้หุ้มทอง ปิดทองประดับกระจกอัญมณี ใช้สำหรับประกอบปิดโกศชั้นใน เรียกพระโกศที่ประกอบนอกนี้ว่า พระลอง มีหลายลำดับตามฐานานุศักดิ์ที่ได้รับ โดยเครื่องประกอบศพบรรดาศักดิ์ของไทยมี 2 แบบ คือ โกศบรรดาศักดิ์ และหีบบรรดาศักดิ์ โดยโกศบรรดาศักดิ์ จะมีพระโกศทองที่ถือว่าเป็นพระโกศที่มีบรรดาศักดิ์สูงที่สุด โดยมี พระโกศทองใหญ่ ( พระลองทองใหญ่ ) ที่จัดลำดับว่าสูงสุด ทำจากไม้แกะสลักทรงแปดเหลี่ยมหุ้มทองคำตลอดองค์ ฝายอดมงกุฎ มีลวดลายที่วิจิตรงดงามมาก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2351 สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สร้างไว้สำหรับพระบรมศพของพระองค์ เมื่อทำสำเร็จ ในปีนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงพระอาลัยมากและใคร่จะทอดพระเนตรพระโกศทองใหญ่ออกพระเมรุตั้งพระ เบญจา จึงโปรดฯให้เชิญพระโกศทองใหญ่ไปประกอบพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นครั้งแรก



โบราณถือว่า ถ้าไม่มีการตายเกิดขึ้นแล้วเอาพระโกศมาประกอบกับพระเบญจาครบชุดเช่นนี้จะ เป็นลางไม่ดี เกิดอาเพศ ไม่มีใครกล้าทำกัน จึงทำให้ไม่เห็นความงามหรือข้อบกพร่องที่จะต้องแก้ไข แต่ด้วยมีเหตุจึงตั้งได้ โดยไม่มีข้อขัดข้องใด ๆ จากเหตุการณ์นี้ จึงเป็นประเพณีในรัชกาลต่อมาให้มีการพระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพเป็น พิเศษ นอกจากพระบรมศพเรื่อยมา โดยพระโกศทองใหญ่เมื่อใช้ทรงพระศพเจ้าฟ้าที่ไม่ได้สถาปนาเป็นพิเศษ จะเอาดอกไม้เพชรฝาโกศกับดอกไม้เอวเพชรออกด้วย คงเหลือแต่พุ่มเพชรกับเฟื่องเพชร แต่ถ้าพระราชทานเป็นกรณีพิเศษจะใส่เครื่องประดับครบชุด”


พระบรมโกศ พระโกศ โกศ พระราชทานนั้น แบ่งลำดับชั้นศักดิ์ ได้ดังนี้


1.พระโกศทองใหญ่


พระโกศทองใหญ่ รัชกาลที่ 1


พระโกศทองใหญ่ หรือ พระลองทองใหญ่ เป็นพระโกศสำหรับทรงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระศพของพระบรมวงศ์ชั้นสูง สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นับเป็นพระโกศที่มีลำดับยศสูงที่สุด โดยใช้สำหรับบรรจุพระศพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นพระองค์แรก และใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นพระองค์ล่าสุด พระโกศทองใหญ่จำหลักด้วยทองคำจริง ๆ หนักประมาณ 50 ชั่ง หรือประมาณ 5 ล้านกว่าบาทตามอัตราทองปัจจุบัน.



พระโกศทองใหญ่ รัชกาลที่ 5

พระโกศทองใหญ่สร้างขึ้นเมื่อปีมะโรง จุลศักราช 1170 ตรงกับ พุทธศักราช 2351 โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้รื้อทองที่หุ้มพระโกศกุดั่นมาใช้สำหรับทำพระโกศทองใหญ่เพื่อไว้สำหรับทรง พระบรมศพของพระองค์เอง พระโกศทองใหญ่ทำจากไม้แกะสลัก มีรูปทรงแปดเหลี่ยม หุ้มทองคำตลอดองค์ และมีฝาเป็นยอดมงกุฎ เมื่อการสร้างพระโกศเสร็จสมบูรณ์แล้ว พระองค์โปรดให้นำพระโกศองค์นี้เข้าไปตั้งถวายเพื่อทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ แต่ในปีเดียวกันนั้นเองสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ลง ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระอาลัยเป็นอันมาก รวมทั้ง พระองค์ทรงใคร่จะทอดพระเนตรพระโกศทองใหญ่เมื่อตั้งพระเบญจาในคราวออกพระเมรุ ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองใหญ่ประกอบพระลองในสำหรับบรรจุพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นครั้งแรก และด้วยเหตุนี้จึงเป็นประเพณีในรัชกาลต่อ ๆ มาที่จะพระราชทานพระโกศทองใหญ่สำหรับทรงพระศพอื่นได้นอกเหนือจากพระบรมศพ แต่จะพระราชทานเครื่องประดับพระโกศตามพระอิสริยยศของเจ้านายที่พระราชทานพระ โกศทองใหญ่ให้ทรงพระบรมศพหรือพระศพ โดยปกติพระบรมศพนั้นจะพระราชทานดอกไม้เพชร ดอกไม้ไหว เฟื่องและดอกไม้เอวเป็นเครื่องประดับพระโกศ เป็นต้น และการตั้งพระโกศทองใหญ่ที่พระเมรุนั้นให้ตั้งแต่พระเมรุกลางเมือง ดังนั้น ถ้าหากพระราชทานเพลิงพระศพที่วัดจะพระราชทานพระโกศทองใหญ่เมื่อชักพระศพเท่านั้น นอกจากนี้ อาจมีการพระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพเมื่อคราวออกพระเมรุด้วย

จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าพระโกศทองใหญ่มีรูปโบราณไม่โปรด จึงโปรดให้กรมหมื่นณรงค์เรืองเดช เจ้านายผู้ทรงชำนาญในการช่างหล่อทรงแก้ไขเสียใหม่ พระโกศทองใหญ่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 3 องค์ โดยองค์แรกนั้นสร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ที่ 2 สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า พระโกศทองใหญ่ รัชกาลที่ 5 หรือพระโกศทองลองใหญ่



พระโกศทองใหญ่องค์ใหม่ทรงพระศพ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


ซึ่งพระโกศทั้ง 2 องค์ข้างต้นนั้น ผ่านการใช้งานจนอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระโกศทองใหญ่องค์ที่ 3 ขึ้น โดยนำมาใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นพระองค์แรก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงการบรรจุพระบรมศพและพระศพลงในโลง แทนการลงพระโกศแล้ว อย่างไรก็ตาม พระโกศทองใหญ่ก็ยังคงใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของเจ้านายชั้นสูงอยู่ เช่นเดิม.


2.พระโกศทองเล็ก



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง๘ เหลี่ยม หุ้มด้วย ทองคำทั้งองค์ ฝายอดมงกุฎ ร.๕ ทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ สำหรับพระราชทานทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า พระโกศทองเล็ก มีเบญจเศวตฉัตร( ฉัตร ๕ ชั้น ) แขวนเหนือพระโกศ


3.พระโกศทองน้อย



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ทรง ๘เหลี่ยม ยอดมงกุฎปิดทองทองประดับกระจก ทั้งองค์ ร.๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๔ สำหรับพระราชทานทรงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้า และพระอัครชายา


4.พระโกศกุดั่นใหญ่



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ทรง ๘ เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองล่อง ชาดประดับ กระจกสีสร้างใน ร.๑ สำหรับพระราชทาน ทรงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้า สมเด็จพระบรมวงศ์ สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า หรือสมเด็จพระสังฆราช


5.พระโกศกุดั่นน้อย



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ทรง ๘ เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจกสีสร้างในสมัย ร.๑ สำหรับพระราชทาน ทรงพระศพ พระบรมวงศ์ที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดี และ พระเจ้าบรมวงศ์ ที่ทรงอิสริยศักดิ์เป็นกรมหลวง และ ศพเจ้าจอมมารดา ที่ธิดาเป็นพระอัครมเหสี ข้าราชการ ที่ได้รับพระราชทานตรานพรัตนราชวราภรณ์ และ ที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


6.พระโกศมณฑป



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง ๔ เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจกสี สร้างในสมัย ร.๔ สำหรับ พระราชทานทรงศพพระเจ้าบรมวงศ์ พระองค์เจ้า และพระเจ้าวรวงศ์ พระองค์เจ้า ที่ทรงกรม ข้าราชการชั้นเสนาบดีที่เป็นราชสกุล


7.พระโกศราชวงศ์



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง ๔ เหลี่ยม ฝายอดทรงชฎาพอกปิดทองล่องชาดประดับ กระจกสี สร้างในสมัย ร.๔ สำหรับพระราชทาน ทรงพระศพพระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า


8.โกศไม้สิบสอง



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายย่อมุม ทรงพระศพหักเหลี่ยมทรงไม้สิบสอง ฝายอดทรงมงกุฎปิดทอง ประดับกระจกสีสร้างในสมัย ร. ๑ สำหรับพระราชทานทรงพระศพ พระราชวงศ์ ฝ่ายพระราชวังบวร พระวรวงศ์ พระองค์เจ้าที่ทรงรับราชการในตำแหน่งหน้าที่สำคัญ และสำหรับ พระราชทานประกอบโกศศพข้าราชการชั้นเสนาบดี เจ้าพระยา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และรัฐมนตรีช่วยว่าการซึ่งถึงแก่กรรม ในขณะดำรงตำแหน่งหน้าที่อยู่นั้น และศพสมเด็จพระราชาคณะ


9.โกศแปดเหลี่ยม



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง ๘ เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑป ปิดทองล่องชาด ประดับกระจกสี สร้างในสมัย ร.๑ สำหรับพระราชทานประกอบโกศศพข้าราชการที่ได้รับพระราชทาน ตราปฐมจุลจอมเกล้า หรือประถมาภรณ์ช้างเผือก และ เจ้าพระยาชั้นสัญญาบัตร หรือรัฐมนตรีสั่งราชการ ที่ถึงแก่กรรม ในขณะที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่อยู่ เจ้าจอมมารดาและท้าวนางที่มีพระโอรสธิดาทรงกรม และ ที่ไม่ทรงกรม ซึ่งประกอบด้วยคุณงามความดี ในราชการและส่วนพระองค์ หม่อมห้ามของ พระบรมวงศ์ ที่เป็นสะใภ้หลวง พระราชาคณะชั้น หิรัญบัตร


10.โกศโถ



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายรูปกลม ฝายอดปริก ปิดทองประดับกระจกมีมาแต่ในสมัย ร.๑ สำหรับ พระราชทาน ประกอบ โกศศพ หม่อมห้าม พระบรมวงศ์ ซึ่งมีโอรสดำรงตำแหน่งเสนาบดี ศพท่านผู้หญิง ท.จ.ว. ท้าวนาง ข้าราชการที่ได้รับราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ มงกุฎไทย หรือผู้ที่เป็นรัฐมนตรีแต่ยังไม่มีตำแหน่ง เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการหรือสั่งราชการ และไม่ได้รับสายสะพาย ซึ่งถึงแก่กรรมในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีในเวลานั้น แต่ทั้งนี้ถ้าผู้นั้นเป็นราชสกุล ราชนิกุล ก็เปลี่ยนเป็นพระราชทานโกศราชนิกุล ประกอบโกศศพ


11.โกศราชนิกุล



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง ๔ เหลี่ยม ตัดมุมผ่าทรงชฎาปิดทองประดับกระจกสี สำหรับพระราชทาน ข้าราชการผู้เป็นราชสกุล ราชนิกุล ซึ่งมีเกียรติยศชั้นที่ได้รับพระราชทานโกศโถ ประกอบโกศศพ




4 ความคิดเห็น: