จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในราชสำนัก ตอน เครื่องทองรัตนโกสินทร์



เครื่องทองรัตนโกสินทร์

เมื่อปีพุทธศักราช 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นราชธานีใหม่ แทนกรุงศรีอยุธยาอดีตราชธานีอันรุ่งเรือง โดยได้ทรงฟื้นฟูพระราชประเพณีและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่สำคัญ ให้เหมือนดั่งเช่นราชธานีเก่า เคยปฏิบัติมา เพื่อให้เป็นแบบแผนสำหรับราชสำนัก ในขณะเดียวกันได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ สำหรับเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ที่จะใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทั้งที่เป็นส่วนขององค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ถือเป็นพระราชพิธีสำคัญที่ปฏิบัติสืบต่อมา จนถึงรัชกาลปัจจุบัน เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ คือสิ่งสำคัญ เป็นเครื่องแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยึดถือมาแต่โบราณ ซึ่งเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศนั้นมีเครื่องทองหลายชิ้นที่มีค่า และถือเป็นเครื่องทองสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ประณีตงดงาม และมากความหมาย อยู่คู่พระมหากษัตริย์ไทยและราชวงศ์ไทย จึงสมควรที่จะเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นสิ่งสำคัญ คู่บ้าน คู่เมือง สืบต่อไป




พระอนุราชมงกุฎ หรือ มงกุฎดอกไม้ไหว

สันนิษฐานว่าพระมงกุฎองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ( รัชกาลที่ 2 ) ทรงสร้างขึ้นสำหรับพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทวาพงศ์ทรง เมื่อคราวลงสรงเฉลิมพระนามาภิไธย เมื่อพุทธศักราช 2345 ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ทำด้วยทองคำลงยา ประดับพลอยสีขาว มีเกี้ยวประดับตรงส่วนยอดสามชั้น เกี้ยวทำเป็นลายรักร้อย ตรงส่วนที่ประดับพระกรรณทำเป็นกรรเจียกจอนลงยาสี ฝังพลอย



พระชฎาห้ายอด หรือพระชฎามหากฐิน
สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร ปลายมี 5 ยอด เครื่องประกอบมีใบสันและกรรเจียก หรือปักขนนกวายุภักษ์ พระมหากษัตริย์ใช้ทรงในงานพระราชพิธีใหญ่ เช่น ในการเสด็จพระราชดำเนินขบวนพยุหยาตราเลียบพระนคร และในการเสด็จพระราชดำเนินพยุหยาตราไปถวายผ้ากฐิน บางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงใช้งานพระราชพิธีโสกันต์



หีบพระศรีทองคำลงยา
หีบพระศรีทองคำลงยา สลักลายดอกลอยและลายแก้วชิงดวงเป็นพื้น ตรงกลางมีตราวชิราวุธประดิษฐานเหนือช้างเอราวัณ ตราวชิราวุธเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 6 ) ใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระองค์เจ้าฝ่ายหน้า ในพระราชพิธีโสกันต์



พระเต้าทองคำลงยาพร้อมพานรอง
ฝีมือช่างทองในราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ( รัชกาลที่ 1 ) เป็นลายพันธุ์พฤกษา องค์พระเต้ามีคอสูงลายที่บ่าเป็นลายกระจัง ที่คอคนโทรัดด้วยปลอกแบบกำไล ยอดฝาสลักลายแบบยอดปริก ซ้อน 3 ชั้น ส่วนพานรองทำด้วยทองคำลงยา เป็นลายกลีบบัวประกอบลายก้านต่อดอก เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร



ขันน้ำพานรองทองคำพร้อมจอก
ตัวขันเป็นทองเกลี้ยงสลักลายเฉพาะขอบแบบลายเบา พานรองสลักลายกลีบบัวมีสันกลาง ลายที่สลักเป็นลายกระจังตาอ้อยแบบก้านต่อดอก จอกสลักลายเบาที่ขอบ ขันน้ำพานรองนี้เมื่อใช้งานจะมีกรวยเป็นผ้าปักครอบ เรียกว่า กรวยคลุมปัก



หีบพระศรีพร้อมพานรองทองคำจำหลักลงยา
หีบพระศรีพร้อมพานรองทองคำจำหลักลงยา ฝาหีบมีตราพระจุลมงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า อันเป็นหลักฐานแสดงว่า เครื่องประกอบพระอิสริยยศที่มีลวดลายแบบเดียวกันในสำรับนี้ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 5 ) หีบพระศรีทองคำเน้นเส้นที่ขอบเป็นลายเกลียว ใบเทศ ภายในขอบเป็นลายเครือเถาใบเทศ ตรงกลางเป็นพระเกี้ยว ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ด้านข้างพานเป็นฉัตรเบญจปฎลห้าชั้น ส่วนพานทองคำลงยาสลักลายกลีบบัว ลายภายในเป็นลายก้านต่อดอก



พานพระศรีทองคำจำหลักลงยา
เครื่องประกอบพระอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นเครื่องราชอิสริยยศที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 5 ) ประกอบด้วยตลับสีผึ้ง ( ตลับภู่ ) พระกรรบิด ซองพลู ผอบทรงกลมยอดปริก 3 องค์ จอกหมากคู่ทรงกลม มีลักษณะพิเศษ คือ ลงยาสีชมพู แตกต่างจากสำรับอื่น ๆ โดยทั่วไปจะลงยาสีแดง และเขียวเป็นสำคัญ



พระตะพาบทองคำ พร้อมพานรอง

พระตะพาบ หรือหม้อน้ำเย็น พร้อมพานรองบัวแฉก ทองคำจำหลักลงยา องค์พระตะพาบและฝาเป็นลายพูลูกฟูก ที่พระหัตถ์จับรูปดอกบัวตูม ฝีมือช่างในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ( รัชกาลที่ 1 ) ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก


ซองพลูทองคำจำหลักลงยา
ปากซองขอบหยัก การลงยาสีที่พื้นแดง ดอกลายเป็นลายเครือดอกสี่กลีบ เป็นฝีมือช่างทองหลวงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่ในสำรับพานพระศรี ใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศสมเด็จฯเจ้าฟ้า ในพระราชพิธีโสกันต์



กากระบอกทองคำ

กากระบอกทองคำพร้อมถาดรอง ตัวกาทรงกระบอกลวดลายดอกพุดตานใบเทศ ถาดรองสลักลวดลายช่องกระจก หรือลูกฟัก สลับกับลวดลายตามแบบฉบับของจีน ฝีมือช่างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 5 ) อยู่ในชุดเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระองค์เจ้าฝ่ายหน้า ในพระราชพิธีโสกันต์




ป้านพระสุธารสทองคำ

ป้านพระสุธารสทองคำจำหลัก ลายดอกไม้มงคลแบบจีน ตัวป้านทำหูหรือที่จับไว้ด้านบน อย่างที่เรียกว่า ป้านสาย ที่มือจับทำด้วยหยก เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520



ขันน้ำพานรองทองคำลงยา

ฝีมือช่างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 5 ) ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน ใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นขันสำหรับใส่น้ำเสวยแบบมีฝาครอบ พานรองเป็นพานกลีบบัว ขอบปากและขอบเชิงลวดบัวหน้ากระดานฝังทับทิม ส่วนบนสุดของฝาครอบทำเป็นรูปผลทับทิม ผลไม้มงคล


เครื่องราชูปโภค

เครื่องราชูปโภคมี อยู่ 4 สิ่ง ได้แก่ พานพระขันหมาก พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ พระสุพรรณศรี (บัวแฉก) พระสุพรรณราช ทั้ง 4 อย่างนี้ทำด้วยทองลงยา มี 2 สำรับ สำรับใหญ่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 อีกสำรับคือสำรับเล็ก สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4




พานพระขันหมาก

พานพระขันหมาก เป็นพาน 2 ชั้น รูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีซองพลูและเครื่องพร้อมพร้อมสำหรับใส่หมาก แม้ปัจจุบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้เสวยพระศรี ( หมาก ) แล้ว แต่ก็ยังเชิญออกมาทอดไว้ข้างพระราชอาสน์ตามราชประเพณี ในพระราชพิธีสำคัญเสมอ



พระมณฑปรัตนกรัณฑ์

พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ เป็นภาชนะรูปทรงมณฑปมีพานรองพร้อมฝา สำหรับใส่น้ำเย็น มีจอกลอยอยู่ภายใน



พระสุพรรณศรี

พระสุพรรณศรี กระโถนเล็ก ทำเป็นรูปบัวแฉก สำหรับบ้วนพระโอษฐ์




พระสุพรรณราช
พระสุพรรณราช กระโถนปากแตรขนาดใหญ่


เครื่องราชอิสริยยศ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
( บางส่วน )




พานทองพร้อมเครื่องใน น้ำเต้าทองพร้อมพานรองลงยาราชาวดี และ
พระมาลาเส้าสะเทิ้นประดับขนนกการเวก




พานหมากทองคำลงยาราชาวดีพร้อมเครื่องใน



เครื่องราชอิสริยยศ หมวดเครื่องอุปโภค
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี




























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น