จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในราชสำนัก ตอน กำไลมาศ พระราชานุสรณ์แห่งความจงรักภักดี



กำไลมาศชาตินพคุณแท้
ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นยอมยืนสี
เหมือนใจจงตรงคำร่ำพาที
จะร้ายดีขอให้เห็นเป็นเสี่ยงทาย
ตาปูทองสองดอกตอกสลัก
ตรึงความรักรัดไว้อย่าให้หาย
แม้รักร่วมสวมไว้ให้ติดกาย
เมื่อใดวายสวาทดิ์วอดจงถอดเอย


กำไลทองพระราชทานนี้ทำจากบางสะพาน น้ำหนักสี่บาท ทำเป็นรูปตาปูโบราณสองดอกไขว้ปลายตาปูลีบเป็นดอกเดียวกัน ที่วงโดยรอบสลักพระราชนิพนธ์ร้อยกรองข้างต้น




คำว่า “ จงรักภักดี” มีความหมายมากมายเพียงใดนั้น สัมผัสได้จากผู้หญิงคนนี้ เจ้าจอมสดับในรัชกาลที่ 5 เนื่องด้วยตลอดชีวิต 93 ปีของท่าน ไม่มีวันใดที่จะหยุดแสดงความเทิดทูนจงรักภักดีในฐานะภริยาและข้าของแผ่นดิน หม่อมราชวงศ์สดับ นามเดิมว่า “ สั้น” เกิด เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2433 ที่วังกรมหมื่นภูมินทรภักดี หรือวังท่าเตียน ย่านปากคลองตลาด เป็นธิดาของหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ ในกรมหมื่นภูมินทรภักดี และหม่อมช้อย ครั้นเมื่อท่าน เจริญวัยอายุได้ 11 ขวบ หม่อมเจ้าเพิ่มลาออกจากราชการในตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และย้ายครอบครัวไปอยู่เมืองราชบุรี จึงได้นำธิดาคนนี้ไปอยู่ในวังของ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ พระอัครชายา ต่อมาสมเด็จหญิงพระองค์ใหญ่ ( เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรุมขุนพิจิตรเจษฏ์จันทร์ ) พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ได้ประทานนามใหม่ว่า “สดับ”



เจ้าจอม ม.ร.ว.สดัล ลดาวัลย์


ชีวิตในพระบรม มหาราชวังนั้น ม.ร.ว.สดับได้รับการอุปถัมภ์อยู่ในตำหนักพระวิมาดาเธอฯ เยี่ยงพระญาติ โดยโปรดให้เรียนหนังสือจากครูทั้งภาษาไทยและอังกฤษ รวมถึงฝึกหัดให้เป็นกุลสตรีชาววังที่จะต้องเรียนรู้ทั้งด้านงานฝีมือ เครื่องอาหารคาวหวาน ด้วยเป็นเด็กหญิงที่คล่องแคล่ว ทะมัดทะแมงเฉลียวฉลาด จึงเป็นที่โปรดปรานของเจ้านายทุกพระองค์ โดยท่านมีหน้าที่ตามเสด็จพระวิมาดาเธอฯ ในกระบวนเสด็จทุกงาน ซึ่งท่านได้บันทึกถึงความรู้สึกในช่วงนั้นว่าสนุกสนานมาก เพราะได้แต่งตัวสวยและได้ออกงานกับเจ้านาย ม.ร.ว.สดับ มาเรียนรู้เรื่องดนตรีและขับร้องเพลงเมื่อตอนอายุ 14 ปี ด้วยเหตุที่รัชกาลที่ 5 ทรงประชวรเมื่อปี 2447 พระวิมาดาเธอฯ จึงทูลเชิญเสด็จมาประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆ โดยจัดการทุกสิ่งทุกอย่างถวายเพื่อทรงสำราญพระทัย ซึ่งนอกจากเรื่องเครื่องเสวยแล้ว ยังทรงให้ข้าหลวงที่ร้องเพลงเป็นจัดเป็นกลุ่มขึ้นขับร้องเพลงถวาย เริ่มตั้งแต่ 3 ทุ่มไปจนถึง 2 ยาม เสด็จเข้าในที่แล้วจึงเลิก ด้วยความที่เป็นคนมีน้ำเสียงไพเราะก้องกังวาน แม้ยามพูดยังมีน้ำเสียงนุ่มนวลน่าฟัง ม.ร.ว.สดับ จึงถูกเลือกให้เป็นต้นเสียงในการร้องเพลง แม้พระวิมาดาเธอฯ เกรงจะถูกครหานินทาว่าส่งเสริมหลาน แต่ก็ถูกครูเพลงทั้งหลายร้องขอจึงจำต้องยินยอม และด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะนี้เอง รัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงสนพระทัยในเรื่องดนตรีมาก เมื่อทรงฟังเสียงของ ม.ร.ว.สดับแล้วทรงโปรด จึงออกพระโอษฐ์ขอต่อพระวิมาดาเธอฯ ผู้เป็นอาและเป็นผู้ปกครองในเวลานั้น ในที่สุด ม.ร.ว.สดับ ได้ถวายตัวรับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาท เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2449


ล้นเกล้ารัชกาล ที่ 5 ทรงโปรดเจ้าจอมสดับมากถึงขนาดทรงพระราชนิพนธ์เพลงให้เลย คือในช่วงที่ทรงประชวรอยู่นั้น พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง “เงาะป่า” ขึ้นมาเพื่อพระราชทานให้ร้องกัน และมีบทหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงพระราชนิพนธ์ถึงเจ้าจอมสดับว่า " ....แม่เสียงเพราะเอย น้ำเสียงเจ้าเสนาะ เหมือนดังใจพี่จะขาด….." เจ้าจอมสดับรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ด้วยความจงรักภักดีจนเป็นที่สนิทเสน่หา ถึงกับพระราชทานสิ่งของมีค่าอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะ “กำไลมาศ” ของพระราชทานอันเป็นเครื่องแสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ยิ่งใหญ่ โดยเจ้าจอมสดับเขียนบันทึกในช่วงนั้นไว้สรุปว่า ตอนนั้นเป็นงานขึ้นพระแท่นพระที่นั่งอัมพร ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงให้เล่นละครเรื่องเงาะป่า เพื่อเก็บเงินคนดูพระราชทานเป็นทุนให้กับ “คนัง” เงาะป่าที่พระองค์ทรงโปรดมาก ปรากฏว่าพระวิมาดาเธอฯ ประชวร คุณจอมสดับจึงต้องเป็นแม่งานเสียเอง โดยต้องรับใช้ในเรื่องตั้งเครื่อง แล้วยังต้องวิ่งมานั่งร้องเพลง ร้องเสร็จก็วิ่งกลับไปยังที่ประทับ “ร้อง เสร็จก็เป็นหน้าที่ข้าพเจ้า ตามเสด็จขึ้นไปรับใช้บนพระที่นั่ง ในวันเฉลิมพระที่นั่งนี้ ทรงพระมหากรุณาสวมกำไลทองรูปตาปูพระราชทานข้าพเจ้า ทรงสวมโดยไม่มีเครื่องมือ บีบด้วยพระหัตถ์ รุ่งขึ้นจึงต้องรับสั่งให้กรมหลวงสรรพศาสตร์พาช่างทองแกรเลิตฝรั่งชาติ เยอรมัน นำเครื่องมือมาบีบให้เรียบร้อย...”



เครื่องเพชรจากยุโรปที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานให้

ในปี 2450 รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสยุโรป ทรงมีพระราชดำริให้เจ้าจอมสดับตามเสด็จในฐานะข้าหลวงของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง นิภานภดล ถึงกับทรงสอนภาษาอังกฤษพระราชทานแก่เจ้าจอมสดับด้วยพระองค์เองก่อนเวลาเสวย พระกระยาหารทุกค่ำคืน แต่ในที่สุดเจ้าจอมก็ไม่สามารถตามเสด็จได้ ซึ่งท่านบันทึกความรู้สึกตอนนั้นว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกทุกข์ทุกข์ เศร้าเศร้า ตลอด 24 ชั่วโมงไม่ได้กินไม่ได้นอน...” และในช่วงพระราชพิธีตอนรัชกาลที่ 5 กำลังจะสด็จนั้น เจ้าจอมสดับหมอบซบหน้าร้องไห้อยู่ตลอดเวลา รัชกาลที่ 5 ทรงแวะประทับยืน พระราชทานพระหัตถ์ให้เจ้าจอมทรงเครื่องขลิบพระนขา ( เล็บ ) ซึ่งท่านเจ้าจอมได้เก็บไว้ใกล้ตัวตลอดมา ครั้นเมื่อเสด็จกลับจากยุโรป ก็ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องเพชรนิลจินดา โดยเฉพาะ เครื่องเพชรชุดใหญ่ที่ทรงสั่งทำจากยุโรป โดยมีพระประสงค์ให้เป็นหลักทรัพย์เลี้ยงชีพในอนาคตแทนตึกแถว หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากประพาสยุโรปไม่นานพระองค์ทรงประชวรและสวรรคต ซึ่งเจ้าจอมสดับบันทึกความรู้สึกในเวลานั้นว่า “ใจ คิดเสียสละได้ทุกอย่าง จะอวัยวะ หรือเลือดเนื้อ หรือชีวิต ถ้าเสด็จกลับคืนมาได้ ข้าพเจ้าคิดว่า เป็นใจที่ติดแน่วแน่ตายแทนได้ ไม่ใช่พูดเพราะๆ ...คุณจอมเชี้อเอาผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งส่งมาให้ข้าพเจ้าบอกว่า ท่านประทานไว้ซับพระบาท ข้าพเจ้าเอาผ้าที่ซับพระบาทแล้วพันมวยผมไว้ แล้วก็นั่งร้องไห้กันต่อไป...”

ตลอดเวลา ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท 8 เดือนเต็ม เจ้าจอมสดับก็ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการเป็นต้นแบบ “นางร้องไห้” หน้าพระบรมศพ และถือเป็นประเพณีนางร้องไห้ครั้งสุดท้ายและชุดสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะหลังจากนั้นก็ไม่มีประเพณีนี้อีกเลย เมื่อ สิ้นรัชกาลที่ 5 นอกจากเจ้าจอมสดับจะอยู่ในความทุกข์โศกแล้ว ยังเจอกับเสียงครหาว่า ท่านเป็นหม้ายอายุเพียง 20 ปีเท่านั้น เกรงว่าจะไม่สามารถครองตัวรักษาพระเกียรติยศอยู่ตลอดไปได้ เพราะนอกจากรูปสมบัติแล้วท่านยังมีทรัพย์สมบัติทั้งเพชรนิลจินดาที่ได้รับ พระราชทานไว้มากมาย อันจะเป็นเหตุให้มีผู้ชายมาหลอก และจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียถึงพระเกียรติยศได้ ส่วนเจ้าจอมสดับเมื่อครองตัวเป็นหม้ายนั้น ท่านตั้งใจแน่วแน่ที่จะรักษาพระเกียรติจนชีวิตจะหาไม่ โดยท่านได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า “ข้าพเจ้าไม่มีใจเหลือเศษที่จะรักผู้ชายใดอีกต่อจนตลอดชีวิต” และท่านก็ได้แสดงความจงรักภักดีตราบจนวาระสุดท้ายของท่านตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ ดังนั้นเพื่อตัดปัญหาเรื่องทรัพย์สมบัติของท่าน เจ้าจอมสดับจึงถวายคืนเครื่องเพชรพระราชทานแม้ว่าจะเป็นเครื่องรำลึกถึงล้น เกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ก็ตาม มีเพียงของพระราชทานเล็กน้อยที่ท่านได้เก็บเอาไว้คือ กำไลมาศ เท่านั้น เจ้าจอมสดับจึงกลายเป็นคนไม่มีสมบัติ เพราะท่านไม่มีตึกแถวหรือทรัพย์สินอื่นๆ ท่านจึงอยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระวิมาดาเธอฯ หลังจากถวายคืนแล้วเจ้าจอมสดับได้รับทราบเกี่ยวกับเครื่องเพชรชุดนั้นอีกครั้ง เดียวว่า ได้นำไปขายยังต่างประเทศ และนำเงินที่ได้ไปสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ข่าวนี้สร้างความยินดีให้กับเจ้าจอมสดับอย่างมากที่จะได้สนองพระมหา กรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 อย่างเต็มศรัทธา ชีวิตที่เหลืออยู่ของเจ้าจอมจึงเดินตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อยึดมั่นเป็นกรอบแห่งจริยวัตรเหนี่ยวรั้งให้ใจสงบและปิดประตูต่อกิเลส ตัณหาทั้งปวง



เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลดาวัลย์ ในวัยชรา


เจ้าจอมสดับย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในวังสวนสุนันทา ของพระวิมาดาเธอฯ ไม่นานก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เจ้านายหลายพระองค์เสด็จไประทับยังต่างประเทศ และเป็นช่วงเวลาหลังจากที่พระวิมาดาเธอฯ สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เจ้าจอมสดับจึงตัดสินใจออกจาก “วัง” ไปอยู่ “วัด” ละทิ้งชีวิตสาวชาววัง ไปอยู่ “วัดเขาบางทราย” จ.ชลบุรี ด้วยความคิดที่อยากจะสร้างกรอบให้ชีวิตโดยนำหลักธรรมะเข้ามายึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ให้พลัดหลงไปตามกิเลสที่พรางตาอยู่ ความร่มรื่นและความสว่างไสวแห่งเสียงพระธรรมที่พระสงฆ์สวดกล่อมเกลาจิตใจอยู่ทุก เมื่อเชื่อวัน จึงทำให้เจ้าจอมตัดสินใจหันหน้าเข้าหาพระธรรมให้เป็นที่พึ่งทางใจอย่างเป็น จริงเป็นจัง ซึ่งในช่วงแรกได้สมาทานอุโบสถศีลอยู่เป็นประจำ และได้ศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในฐานะพุทธมามะกะที่ดีอย่างเคร่งครัด สิ่งหนึ่งที่ท่านเจ้าจอมปฏิบัติทุกวันมิได้ ขาดคือ สวดมนต์ถวายพระราชสักการะและถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


กระทั่งเมื่อเจ้าจอม สดับอายุครบ 60 ปี หรือที่เรียกกันว่าเข้าช่วงปัจฉิมวัย ท่านจึงคิดอยากจะบำเพ็ญกุศลในแซยิดให้พิเศษยิ่งขึ้นไปอีก จากที่เคยปฏิบัติดังเช่นทุกวัน ท่านตัดสินใจปลงผม นุ่งขาวห่มขาว และขอประทานศีลจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติกายและใจให้บริสุทธิ์ตามวิธีแห่งพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังเป็นการอุทิศพระราชกุศลทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 พระสวามีผู้เป็นที่รักยิ่ง ครั้นเมื่อปี 2506 เจ้าจอมได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้กลับคืนมาอยู่ในพระบรมมหาราชวังอีกครั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ทั้งในยามดีและยามไข้ ด้วยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อให้เจ้าจอมสดับใช้ชีวิตอย่างมีความสุข พอกินพอใช้และเหลือทำบุญบ้าง แม้ช่วงชีวิตที่เข้ามาอยู่ในวังหลวงแล้ว เจ้าจอมยังเดินไปฟังธรรมที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทุกวันอาทิตย์และทุกวันธรรมสวนะมิได้ขาด จวบถึงวัย 92 ปีที่ร่างกายอ่อนแอเดินตามลำพังไม่ได้เท่าที่ควร แล้วจึงได้งดไป และยังได้บริจาคเงินสมทบทุนมูลนิธิสายใจไทยเป็นประจำทุกเดือนๆ ละ 1 พันบาท นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิฯ ในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งเช่นเจ้าจอมสดับนั้น ท่านได้แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีที่ถวายต่อรัชกาลที่ 5 อย่างไม่มีวันสิ้นสุด สิ่งใดที่จะกระทำได้เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์ท่านนั้น เจ้าจอมจะเต็มใจสนองพระคุณทุกอย่างเต็มกำลัง ดังนั้น ชีวิตของเจ้าจอมที่ดำเนินมาหลังจากที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 สิ้นพระชนม์ชีพแล้ว ในทุกวันทุกลมหายใจจึงตั้งใจกระทำความดีถวายอุทิศแด่รัชกาลที่ 5 เสมอมา ดังเช่นตลอดหลายสิบปีที่เจ้าจอมสดับใช้ชีวิตอย่างสงบอยู่ที่วัดเขาบางทรายนั้น ท่านได้ถือศีลสวดมนต์ภาวนา จนได้ทำบันทึกข้อธรรมตามความรู้ความเข้าใจไว้เตือนตน ตั้งแต่ พ.ศ.2478 ( เมื่ออายุได้ 45 ปี ) และบันทึกเป็นช่วงๆ เกือบตลอด 40 ปี จนกลายเป็นหนังสือขนาด 8 หน้ายก เกือบ 500 หน้า ท่านได้ให้ชื่อบันทึกธรรมนี้ว่า “สุตาภาษิต” ซึ่งนับเป็นมรดกที่มีค่าชิ้นหนึ่งทิ้งไว้ให้อนุชนรุ่นหลัง ได้ศึกษาการเข้าถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ตามความเข้าใจและปฏิบัติของเจ้าจอมสดับ กิจวัตรที่เจ้าจอมกระทำเป็นประจำมิได้ขาดคือ ทุกวันที่ 23 ตุลาคม อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 5 และวันที่ 1 เมษายน คล้ายวันเริ่มรับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาท เจ้าจอมจะอัญเชิญพานประดิษฐานของพระราชทานอันมีค่าอย่างยิ่งในชีวิตของท่าน คือ พระบรมทนต์ ซึ่งแกะเป็นองค์พระและเส้นพระเจ้าบรรจุไว้ในล็อกเก็ต รวมทั้งผ้าซับพระบาทออกสดับปกรณ์ พร้อมทั้งนิมนต์พระสงฆ์ถวายพระราชกุศลพิเศษ



เข็มกลัดตราพิณภายใต้พระจุลมงกุฏ ร.5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน
เมื่อ ร.ศ.125 ( พ.ศ.2449 )


ในวันที่ 1 เมษายน 2510 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 60 ปีของการรับราชการเป็นเจ้าจอมในรัชกาลทื่ 5 และเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2513 อันเป็นวันครบรอบอายุ 80 ปี เจ้าจอมสดับก็ได้บำเพ็ญกุศลทางใจด้วยเจริญวิปัสสนากรรมฐาน รวมสำรวมกาย วาจา ใจที่จะไม่ข้องแวะกับโลกภายนอก อันเป็นทางให้เกิดสมาธิชั้นสูงรวบรวมพลังจิตอุทิศกุศลผลบุญทั้งมวล น้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 เป็นเวลา 60 วันและ 80 วัน เป็นการทดแทนการทำพิธีเฉลิมฉลองอย่างอื่น นอกจากนี้ ท่านเจ้าจอมยังถวายความจงรักภักดีสนองพระคุณต่อในหลวงองค์ปัจจุบันอย่างสุด ความสามารถเช่นกัน ด้วยท่านเติบโตมากับวังพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งมีชื่อเสียงทั้งด้านอาหารและงานฝีมือ ดังนั้น ทุกครั้งที่ท่านสบโอกาสจะฝึกฝีมือในการถักนิตติ้งอยู่บ่อยครั้ง เช่น ถักถลกบาตรกรองทอง ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อเสด็จออกทรงผนวช ถักผ้าทรงสะพักกรองทองถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระราชธิดา พระสุนิสาทุกพระองค์ ถึงแม้ว่าขณะนั้นท่านจะมีสายตาฝ้าฟางด้วยอายุที่มากขึ้นก็ตาม แต่ท่านก็มิได้ท้อถอยแต่อย่างใด นอกจากจะเคี่ยวเข็ญถ่ายทอดการถักให้หลานผู้เป็นคุณข้าหลวงตลอดจนเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องจนถักได้แล้ว เจ้าจอมยังขอสนองพระมหากรุณาธิคุณด้วยการถ่ายทอดวิชาการถักให้แก่นักเรียนใน โครงการศิลปาชีพด้วย ด้วยเจ้าจอมสดับมีชีวิต ที่ยืนยาวและเป็นผู้ที่มีจิตเมตตาต่อทุกคน เวลามีคนขอให้ท่านเล่าเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับรัชกาลที่ 5 ท่านจะเล่าด้วยความรู้สึกที่มีความสุขเป็นยิ่งนัก และท่านยังได้ใช้เวลาเขียนบทประพันธ์ถึงประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 5 ราชประเพณีในวังหลวง อีกมากมายเพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับทราบ



เช้าตรู่วันพฤหัสบดีที่ 30 มิ.ย.26 ลูกหลานในตระกูลลดาวัลย์และคนไทยหลายคนต้องเศร้าเสียใจต่อการจากไปอย่างไม่ มีวันกลับของ เจ้าจอมสดับ ด้วยโรคชรา ในวัย 93 ปี ณ โรงพยาบาลศิริราช คุณดุ๊ก-ม.ล.พูนแสง ( ลดาวัลย์ ) สูตะบุตร หลานสาวที่เจ้าจอมสดับให้การดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ในวัยเยาว์ เล่าว่า เจ้าจอมสดับสวมกำไลมาศติดมือจนสิ้นลมหายใจ และคุณดุ๊กเป็นคนถอดกำไลข้อมือนั้นด้วยตัวเอง โดยเล่าถึงสภาพของกำไลมาศว่า “ถึง แม้ว่าคำกลอนที่จารึกไว้ในกำไลมาศจะลบเลือนไปตามกาลเวลา เพราะท่านสวมมาถึง 76 ปี แต่ พระปรมาภิไธย “จุฬาลงกรณ์ ป.ร.” ที่จารึกไว้ด้านในท้องกำไลยังคงเป็นรอยจารึกที่แจ่มชัดเช่นเดิมจนน่าประหลาด ใจมาก” จากนั้นคุณดุ๊กก็ได้นำกำไลมาศและของ พระราชทานอันมีคุณค่าทางจิตใจของเจ้าจอมทั้งหมด เพื่อถวายแด่พระบาทสมด็จพระเจ้าอยู่หัวฯรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำของอันเป็นที่รักของเจ้าจอมสดับไว้ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ ( ตรงห้องพระบรรทม ) เจ้าจอมสดับจึงเป็น “เจ้าจอมในรัชกาลที่ 5” คนสุดท้าย ที่มีชีวิตยาวนานมาถึง 5 แผ่นดิน และตลอดชีวิตของท่านได้แสดงถึงความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ในฐานะภรรยาที่มีต่อสามี ในฐานะข้าในรัชกาลที่ 5และรัชกาลที่ 9 รวมถึงในฐานะข้าของแผ่นดิน.




********** ********** **********


dekpakdee

22-11-53

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในราชสำนัก ตอน ลักษณะบริเวณในเขตพระราชฐานชั้นใน



ลักษณะบริเวณในเขตพระราชฐานชั้นใน



พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า


พื้นที่ 1 ใน 3 ของพระบรมมหาราชวัง เป็นพื้นที่ของเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งส่วนใหญ่ในอดีตเป็นตำหนักที่ประทับของพระมเหสี และพระราชธิดา และเป็นเรือนที่อยู่ของพระสนมเอก เจ้าจอม ข้าราชการ และคุณพนักงาน ในแต่ละรัชกาล การจัดวางตำแหน่งของตำหนักและเรือนต่างๆ จะลำดับความสำคํยโดยใช้ พระมหามณเฑียรเป็นหลัก พื้นที่บริเวณหลังพระมหามณเฑียรจะเป็นที่ตั้งของตำหนักที่มีความสำคัญสูง เช่น ตำหนักที่ประทับของ สมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ( ทูลกระหม่อมแก้ว ผู้อภิบาลพระบาทสมเด็จพระจุลลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่องยังทรงพระเยาว์ ) การเรียงลำดับความสำคัญจะเรียงจากทิศเหนือมาทิศใต้ โดยมีถนนเล็ก ๆ กั้นระหว่างตำหนักและเรือนแต่ละหลัง X 26.50 เมตร จะเป็นตำหนักเดี่ยว ล้อมรอบด้วยถนน ตำหนักเหล่านี้จะเป็นที่ประทับของพระมเหสี พระราชธิดา พระสนมในแตละรัชกาล เช่น พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า



ตำหนักสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร


แถวที่ 1 - ตั้งอยู่ริมถนนหลักจากประตูสำราญราช หลังพระมหามณเฑียร มีเนื้อที่ประมาณ 18.50



ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าประเวศวรสมัย


แถวที่ 2 - ตั้งอยู่หลังแถวที่ 1 ตำหนักมีเนื้อที่ประมาณ 18.00 X 20.00 เมตร ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าตำหนักแถวที่ 1 ลักษณะเป็นเรือนแบบเรือนหมู่ หรือเป็นตำหนักเดี่ยว ล้อมรอยด้วยถนน เป็นที่ประทับของพระราชธิดา และเจ้าจอมมารดาในแต่ละรัชกาล เช่น ตำหนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าประเวศวรสมัย และเจ้าจอมมารดาทับทิม ในรัชกาลที่ 5




เรือนเจ้าจอมเง็ก

แถว ที่ 3 และแถวที่ 4 - ตั้งอยู่หลังตำหนักแถวที่ 2 ลักษณะเป็นเรือนหันหน้าไปทางทิศใต้แต่ละแถวมีความกว้างประมาณ 10.00 เมตร ยาวประมาณ 40.00 เมตร แต่ละแถวเป็นห้องชุดประมาณ 6 ชุด หรือน้อยกว่านั้น เรือนแถวเหล่านี้เป็นที่อยู่ของเจ้าจอมและพนักงานชั้นผู้ใหญ่ เช่น เรือนเจ้าจอมเง็ก



แผนผังเรือนเจ้าจอม


กลุ่มตำหนักและเรือนเหล่านี้ซึ่งหันหน้าไปในทิศต่าง ๆ กัน โอบล้อมด้วยอาคารสูง 2 ชั้นยาวติดต่อกันเรียกว่า " แถวเต็ง " ทั้ทางด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้ อาคารส่วนนี้เป็นที่อยู่ของพนักงานและข้าหลวงตามตำหนัก ต่างๆ ที่มีความสำคัญน้อยที่สุด ในการเข้า - ออก ตำหนักต่าง ๆ เหล่านี้ แต่ละตำหนัก จะมีประตูทางเข้า - ออก ไม่ตรงกัน นอกจากนั้นยังมีประตูเล็ก ๆ สำหรับข้าหลวงของแต่ตำหนักแยกจากกัน ตำหนักที่เป็นแบบเรือนหมู่แต่ละหลังประกอบด้วย ตำหนักที่ประทับ เรือนที่อยู่ของข้าหลวง ห้องเครื่องประกอบอาหาร คาว - หวาน ตำหนักเหล่านี้ตั้อยู่ในในพื้นที่สี่เหลื่ยนผืนผ้า ขนาดใหญ่ - เล็กไม่เท่ากัน ตามพระอิสริยยศและฐานะขององค์เจ้าของตำหนัก นอกจากนั้นยังมีเรือนแถวที่อยู่ของเจ้าจอมอยู่งาน ข้าราชการ และคุณพนักงานฝ่ายในซึ่งประกอบไปด้วย ห้องพัก ห้องครัว ห้องคนรับใช้ เรือนเหล่านี้จะลดหลั่นกันไปตามาฐานะของผู้อยู่อาศัย นอกจากบางตำหนักที่องค์เจ้าของตำหนักมีพระอิสริยยศสูง มีบริวารมาก อาจจะมีห้องเครื่อง ( ห้องครัว ) แยกไปเป็นอาคารคนละหลังกับตำหนักที่ประทับ เช่น พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า , ตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี , ตำหนักพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ตำหนักขนาดใหญ่เหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกที่มักจะมีห้องเครื่องประกอบ อาหารแยกไปอีกหลังหนึ่งใกล้กับตำหนักที่ประทับ.




********** ********** **********

dekpakdee
21-11-53


เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในราชสำนัก ตอน ชีวิตความเป็นอยู่ของชาววังในอดีต


ชีวิตความเป็นอยู่ของชาววังในอดีต




ในเมืองเล็กๆ ดังกล่าวนี้ มีอาคารรูปแบบต่างๆ กันปลูกประชิดติดต่อกันไปหาที่ว่างได้ยาก อาคารเหล่านี้เป็นตำหนักที่ประทับของพระมเหสีเทวี และพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่างๆ นอกจากนั้นยังมีเรือนที่อยู่ของเจ้าจอม มีเรือนแถวเป็นที่อยู่ของพนักงานชั้นผู้ใหญ่ และมีแถวเต็ง ซึ่งเป็นเรือนแถวยาวริมกำแพงพระราชวังชั้นใน เป็นที่อยู่ของ พนักงาน ข้าหลวง คุณเฒ่าแก่ ซึ่งมีความสำคัญน้อยที่สุด การที่พระราชฐานชั้นในเนืองแน่นไปด้วยตำหนัก และผู้คนจำนวนมากดังกล่าวนี้ ก็เนื่องด้วยในระบบการปกครองแบบสมบูรณาสิทธิราชย์ มีกฏมณเฑียรบาลกำหนอดไว้ว่า พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่างๆ จะออกมาประทับนอกพระราชวังไม่ได้ ฉะนั้นเมื่องเปลื่ยนรัชกาลพระราชธิดาในรัชกาลก่อนก็ยังต้องประทับในพระราชวังเรื่อยมา ยก เว้นแต่พระชนนีหรือเจ้าจอมมารดาของพระราชโอรสมีสิทธิที่จะขอพระราชทานพระบรม ราชานุญาตเสด็จออกไปประทับหรือไปอยู่กับพระราชโอรสที่ออกวังได้แล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่องโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้านายผู้หญิงที่วังหน้าหลายพระองค์ก็ได้เสด็จมาประทับที่พระราชฐานชั้นใน จึงทำให้มีเจ้านายฝ่ายในเพิ่มจำนวนขึ้น จนท้ายที่สุด รัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชวังสวนดุสิตขึ้นเป็นที่ประทับต่อไป



ตำหนักในเขตพระราชฐานชั้นใน

ตำหนักในเขตพระราชฐานชั้นในนี้ มีขนาดใหญ่เล็กไม่เท่ากัน บางตำหนักก็สูงใหญ่หลายชั้นตกแต่งโอ่อ่า บางตำหนักก็เล็กค่อนข้างจะเก่าและผุผัง ตำหนักแต่ละหลังก็มีบรรยากาศแตกต่างกัน บางตำหนักก็ขายขนม ขายน้ำอบแป้งร่ำ เครื่องหอม บางตำหนักก็เปิดเป็นห้างขายผ้าแพรพรรณและเครื่องใช้ บางตำหนักนิยมปลูกเครื่องหอม แล้วให้เด็กผู้หญิงข้าหลวงที่มีเวลาว่างหัดร้อยมาลัยในแบบต่างๆ หรือไม่ก็เก็บดอก จำปี จำปา มะลิ พุทธชาด กระดังงา ส่งไปฝากขายตามประตูวัง บางตำหนักก็โปรดเลี้ยงสุนัข บางตำหนักโปรดเลี้ยงแมว บางตำหนักโปรดเลี้ยงนก บางตำหนักโปรดการขุดบ่อ ก่อเขา จัดสวน ปลูกบัว ตำหนักที่เป็นชาวเมืองเพชรบุรีก็พูดสำเนียงชาวเพชรทั้งตำหนัก ที่มาจากปักษ์ใต้ก็พูดปักษ์ใต้ ที่แปลกกว่าคนอื่นก็คือ ตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ข้าหลวงนุ่งซิ่นไว้ผมมวย แต่งกายอย่างชาวเชียงใหม่ พูดภาษาเมืองเหนือ เป็นที่เดียวที่มีเมี่ยงแจกกินเป็นประจำ



พระราชชายา เจ้าดารารัศมี


การดูแลความเรียบร้อยในเขตพระราชฐานชั้นใน



เจ้าพนักงานจ่าโขลน

ในรัชกาลต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะโปรดฯ ให้พระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทรงทำหน้าที่ว่าราชการทั่วไปในพระราชฐานชั้นใน ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระศรีพัชราทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผองศรี พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงตั้ง " กรมโขลน" ขึ้น เพื่อดูแลความเรียบร้อยในพระราชฐานชั้นใน จึงได้โปรดฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น 4 กรมหลวงสมรรัตนสิริเชฐ ( พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา ) ทรงเป็นอธิบดีกรมโขลนมีราชการเป็นหญิงล้วน กรมโขลน นี้มีหน้าที่ราชการคล้ายตำรวจนครบาล คือ รักษาความสงบ มีกองรักษาการณ์อยู่ที่ศาลา ( เรียกว่า ศาลากรมโขลน หรือเรียกย่อๆ ว่า " ศาลา " ตั้งอยู่ที่พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ) มียามประจำอยู่ตามสี่แยก หรือตามสถานการณ์เช่นประตูพระราชวัง ยามเหล่านี้ที่มียศเป็นจ่าเรียกว่า " จ่าโขลน" มีเครื่องแต่งกาย นุ่งผ้าพื้น สวมเสื้อจีบแขนยาว แบบแขนกะรบอก ห่อผ้าพับข้างนอก บนแขนเสื้อจ่านั้นติดบั้งสี่บั้ง นอกจากนั้น กรมโขลนยังมีพนักงานทำหน้าที่อื่นๆ ด้วย กรณี ที่มีผู้กระทำความผิด ถ้าเป็นโทษสถานเบาก็ถูกคุมขังที่ศาลากรมโขลนนี้ แต่ถ้าเป็นโทษสถานหนักต้องถูกจำขังที่ที่คุมขังฝ่ายใน เรียกว่า ติดสนม (ติดคุก) ถ้าผู้ต้องรับพระราชอาญาเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์ จะมีเครื่อง " สังขลิก " ( โซ่ตรวน ใช้ล่ามผู้มีเกียรติฝ่ายใน ) ที่พันธนาการจะหุ้มด้วยผ้าขาว แต่สำหรับคนธรรดาไม่มีหุ้มผ้า ผู้ดูแลในเรื่องนี้เรียกว่า นายหริดโขลน



พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา
กรมหลวงสมรรัตนสิริเชฐ

อธิบดีกรมโขลน


ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี ( พระองค์เจ้านภาพรประภา ) ทรงรับช่วงงานอธิบดีกรมโขลนสืบต่อมาจาก กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ จนเป็นที่รู้จักกันในนาม " เสด็จอธิบดี " จนถึง พ.ศ. 2475 ในปัจจุบันกรมโขลนนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่งยังมีเจ้าหน้าที่กองการในพระองค์ที่ปฏิบัติงานคล้ายคลึงกับของเดิม โดยจะดูแลความเรียบร้อยทั้งหมด ในอดีตนอกจากการดูแลความเรียบร้อยของพระราชวังแล้ว ในบางครั้งยังทรงโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ในสมัย รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ( พระองค์เจ้าหญิงบุตรี ) ทรงดูแลพนักงานทำธูปเทียน จัดดอกไม้ ร้อยดอกไม้ และทรงให้ พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ( พระวิมาดาเธอ ) ทรงดูแลพนักงานเครื่องต้น ( อาหาร ) และทรงให้ ท้าววรจรรยาวาส ( เจ้าจอมมารดาวาดในรัชกาลที่ 4 ) ทำหน้าที่ดูแลเจ้าจอม และทรงให้ ท้าวทรงกันดาร ( เจ้าจอมมารดาหุ่นในรัชกาลที่ 4 ) ดูและพระคลังใน ( เป็นที่สำหรับเก็บของที่ต้องใช้เป็นประจำและยังเก็บเครื่องใช้ไม้สอยประเภท เครื่องถ้วยต่างๆ )



พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี


ระเบียบประเพณีและการดูแลความเรียบร้อย
ในเขตพระราชฐานชั้นใน




เขตพระราชฐานชั้นในเมื่องครั้งอดีต เปรียบเสมือนเมืองเล็ก ๆ จำเป็นต้องมีกฎระเบียบปฏิบัติ แต่กฎระเบียบนี้จะไม่เป็นกฎตายตัว สามารถเปลื่ยนแปลงได้ตามกาลสมัย และพระราชนิยม โดยเรียกกันว่า " ประเพณีวัง " โดยจะอธิบายคร่าว ๆ ดังนี้

การเข้าออกวัง

ในอดีตถ้าผู้ชายคนใดมีกิจธุระที่จำเป็นต้องเข้ามาในเขตพระราชฐานชั้นใน จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ กรมโขลน ควบคุมเข้าไปได้เฉพาะที่ ที่มีกิจธุระเท่านั้น ในปัจจุบันระเบียบนี้มิได้เข้มงวดเหมือนดังแต่ก่อน แต่ยังต้องคงมีเจ้าหน้าที่กองการในพระองค์ที่เป็นสตรีควบคุมไปด้วย

การเกิดในวัง

มีได้เฉพาะแต่พระราชโอรส และพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์เท่านั้น โดยไม่มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ใดเลย ดังพระบรมราชกระแสของ รัชกาลที่ 5 ครั้งดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงรับสั่งไว้ว่า " นอกจากเจ้าแผ่นดิน ลูกใครมาออกในวัง จัญไร... เมื่อฉันมีลูกก็รับสั่งให้เอาไปออกเสียนอกวัง " ถ้าสามัญชนคนใดมาคลอดลูกในพระราชวังชั้นใน ก็ต้องทำพิธี กลบบัตรสุมเพลิง ณ ที่ที่คลอดลูกเพราะถือว่าโลหิตตกในพระราชวัง นอกจากนั้นยังต้องมีละครสมโภชประตูพระราชวัง ในทั้ง 4 ทิศ ด้วยเหตุนี้จึง ห้ามมิให้คนท้องเข้าในเขตพระราชฐานชั้นในนอก จากพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี พระมเหสีเทวี พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในแล้ว สามัญชนจะเข้ามาตายใน พระราชวังไม่ได้ ถ้ามีเหตุ เช่นนั้นก็ต้องทำพิธี กลบบัตรสุมเพลิง ณ ที่เกิดเหตุเช่นเดียวกับการคลอดลูกใรพระราชวัง ซึ่งประเพณีนี้ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

การตายในวัง

นอกจากพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี พระมเหสีเทวี พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในแล้ว สามัญชนจะเข้ามาตายใน พระราชวังไม่ได้ ถ้ามีเหตุ เช่นนั้นก็ต้องทำพิธี กลบบัตรสุมเพลิง ณ ที่เกิดเหตุเช่นเดียวกับการคลอดลูกในพระราชวัง ซึ่งประเพณีนี้ยังคงปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

การเหยียบธรณีประตูพระราชวัง

ในแต่ละประตูถือว่ามีเทพยดารักษา จึงห้ามเหยียบธรณีประตู ถ้ามีการละเมิดอาจถูกสั่งให้กราบธรณีประตูเพื่อเป็นการขอขมาลาโทษ ฉะนั้นประตูวังทุกแห่งจึงมีการสมโภชเป็นการภายในทุกปี



พิธีกลบบัตรสุมเพลิง




เป็นพิธีทางไสยศาสตร์ ลัทธิพราหมณ์ ผู้ที่ทำพิธีคือ พราหมณ์ เรียกกันว่า " ฝ่ายพฤฒิบาศ " ในราชการราชสำนักสมัยก่อนเป็นพิธีกรรมเพื่อแก้เสนียดจัญไร หรืออัปมงคล เช่น สามัญชนตายโดยทำลายชีพตัวเอง ( ฆ่าตัวตาย ) หรือตายโดยเหตุผิดปกติในพระราชฐานอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พิธีกลบบัตรสุมเพลิง เป็นการถอดถอนดวงวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ให้ออกไปจากเขตพระราชฐาน เพื่องความเป็นมงคลแก่สถานที่นั้น ๆ



********** ********** **********

dekpakdee
21-11-53

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในราชสำนัก ตอน ประวัติการสร้างพระบรมมหาราชวัง



พระบรมมหาราชวังเริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2325 เมื่อแรกมีเนื้อที่ประมาณ 132 ไร่ ในสมัยรัชกาลที่ 1 ( พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ) และต่อมาในสมัยของ รัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ.2352 ได้โปรดเกล้าฯให้ขยายอาณาเขตพระบรมมหาราชวังไปทางทิศใต้ในเขตที่ตั้งเคหะ สถานของเสนาบดีจนจดเขตวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและให้สร้างถนนกั้นเป็น เขตระหว่างพระบรมมหาราชวังและวักพระเชตุพนฯ มีชื่อว่า ถนนท้ายวัง มีพื้นที่ขยายใหม่ประมาณ 20 ไร่ 2 งาน รวมเนื้อที่ของพระบรมมหาราชวังตั้งแต่แรกสร้างทั้งสิ้น 152 ไร่ 2 งาน การขยายพระบรมมหาราชวังในครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯให้สร้างกำแพงต่อจากแนว กำแพงเดิม และสร้างป้อมขึ้นมาใหม่ที่มุมและระหว่างกำแพงกลางรวมทั้งรื้อประตูของเดิม และสร้างขึ้นใหม่อีกหลายแห่ง พร้อมทั้งพระราชทางชื่อป้อมและประตูที่สร้างขึ้นใหม่ ให้คล้องจ้องกับชื่อป้อมและประตูของเดิม ในการสร้างพระบรมมหาราชวังในครั้งนี้พระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นคล้ายคลึงกับพระราชวังหลวงที่กรุงศรีอยุธยามากที่สุด กล่าวคือในบริเวณภายในพระบรมมหาราชวังจะแบ่งเป็น 3 ส่วน


พระราชฐานชั้นนอก


ซึ่งเป็นที่ทำการของสมุหนายก สมุหกลาโหมและหน่วยงานต่างๆรวมทั้งทหารรักษาวังด้วย บริเวณดังกล่าวนี้ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ ประตูพิมานเทเวศร์ ถึง ประตูสุวรรณบริบาล และ ประตูวิเศษไชยศรี ถึง ประตูพิมานชัยศรี


พระราชฐานชั้นกลาง


มีบริเวณอยู่ในส่วนกลางของพระบรมมหาราชวังด้านทิศเหนือติดต่อกับพระราชฐานชั้นนอกและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้านทิศใต้ต่อเนื่องกับเขตพระราชฐานชั้นใน ในส่วนนี้เป็นที่ตั้งของพระปราสาทพระราชมณเฑียรสถาน ซึ่งเป็นอาคารที่สำคัญสูงสุดในพระบรมมหาราชวัง ในอดีตเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และเป็นที่เสด็จออกขุนนางเพื่อบริหารราชการแผ่นดินในการปกครองประเทศ ในปัจจุบันพระมหากษัตริย์ได้เสด็จฯไปประทับที่พระราชวังอื่นเป็นส่วนมาก พระมหาปราสาท และพระราชมณเฑียรสถานจึงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ ได้แก่ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีฉัตรมงคล และพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และยังเป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะอีกด้วย ในเขตพระราชฐานชั้นกลางจะมีพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทเป็นพระที่นั่งที่พระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นองค์แรกในพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ. 2326 สำเร็จลงใน พ.ศ. 2328 แต่ใน พ.ศ. 2332 ได้เกิดฝนตกฟ้าผ่าตรงมุขเด็จพระที่นั่งทำให้เกิดเพลิงไหม้ที่เครื่องบนพระมหาปราสาท และไฟได้ลามไหม้จนหมดองค์ จึงโปรดเกล้าฯให้รื้อออกทั้งองค์ และสร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทองค์ปัจจุบันขึ้นแทน นอกจากที่ยังมี พระที่นั่งพิมานรัตยา พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท พระที่นั่งราชกรณยสภา หมู่พระมหามณเฑียรได้แก่ พระที่นั่งจักพรรดิพิมาน พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ พระที่นั่งเทพอาสน์พิไล พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ พระที่นั่งสนามจันทร์ พระที่นั่งราชฤดี หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งในที่นี้จะอธิบายต่อไปเพราะต้องกล่าวรวมกับเขตพระราชฐานชั้นในด้วย นอกจากนี้ยังมีพระที่นั่งอื่นๆ เช่น พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญได้เปลื่ยนนามพระที่นั่งเป็นพระที่นั่งบรมพิมานตราจนทุกวันนี้ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ปราสาท พระที่นั่งไชยชุมพล เขตพระราชฐานชั้นกลาง ตั้งแต่ประตูพิมานไชยศรี ถึง ประตูสนามราชกิจ


พระราชฐานชั้นใน ( ซึ่งจะกล่าวให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ)


มีบริเวณอยู่ทางทิศใต้ของพระบรมมหาราชวังเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับพระราชฐานชั้นกลาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระมหาปราสาทและพระราชมณเฑียรสถาน ด้านหลังและด้านข้างของพระราชฐานชั้นในโอบล้อมด้วยอาคารสูง 2 ชั้นซึ่งทำหน้าที่เป็นกำแพงพระราชวังชั้นในไปด้วยในตัว กำแพงดังกล่าวนี้ด้านนอกไม่มีหน้าต่างหรือช่องเปิดใดๆทั้งสิ้น ในอดีตพระราชฐานชั้นในเป็นเขตหวงห้ามสำหรับบุคคลภายนอกโดยเฉพาะ บุรุษเพศ ยกเว้นแต่พระสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชโอรสที่ยังมิได้โสกันต์ ( ตัดจุก ) หรือเด็กชายที่มีอายุไม่เกิน 10 ปี แต่ถ้ามีกิจธุระจำเป็นต้องขออนุญาติไปตามลำดับขั้นตอนจึงจะมีสิทธิ์เข้าได้ ในปัจจุบันข้อห้ามเหล่านั้นได้ผ่อนคลายลงแต่ก็ยังเป็นเขตหวงห้าม ที่มีระเบียบแบบแผนใช้ปฏิบัติต่อไป ในอดีตพระราชฐานชั้นในเป็นที่ประทับของ พระมเหสีเทวี พระราชธิดา ในพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ ตลอดจนเป็นที่อยู่ของพระสนมกำนัล เจ้าจอม ข้าหลวงและข้าราชการที่เป็นหญิงล้วน นอกจากนั้นยังมีเด็กหญิงวัยต่างๆ มีทั้งหม่อมเจ้าซึ่งเป็นพระธิดาในเจ้านายพระองค์ชาย และธิดาในเชื้อพระวงศ์หลายระดับ ตลอดจนธิดาของขุนนางและข้าราชการที่นิยมส่งบุตรีเข้ามาศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่าน รวมทั้งอบรมเรื่องการบ้านการเรือน ฝึกหัดมารยาท พระราชฐานชั้นในก็เปรียบเสมือนเมืองเล็กๆที่มีพลเมืองเป็นหญิงล้วนๆ มีระเบียบแบบแผนและความเป็นอยู่ของตนเอง ที่กลายเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมประเพณียุคหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์.



dekpakdee
21-11-53

ภาคต่อ " ขังวังหลวง "





หลังจากบทความเรื่อง " ขังหลวง " ปรากฎให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันแล้ว ก็ปรากฎว่าเป็นที่สนใจของพี่ๆที่อยู่ต่างแดนกัน กับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของราชสำนักไทย วันนี้จึงขอเสนอภาคต่อมาให้ได้ติดตามกันอีก ภาคนี้จะเป็นปฐมเหตุให้เกิด " ขังหลวง " ในรัชกาลที่ 6 ยังไงก็มาลองติดตามกันครับ



พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลภาเทวี อดีตพระคู่หมั้นใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมล วรวรรณ หรือท่านหญิงเตอะ ( แปลว่าขาว ) พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ พระเจ้าอยู่หัวทรงพบกับหม่อมเจ้าหญิงท่านนี้ครั้งแรกที่งานแสดงภาพเขียน ในพระราชวังพญาไท ต่อมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2463 ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงวรรณวิมลขึ้นเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลภาเทวี ในที่พระคู่หมั้น พร้อมกับพระราชทานตราปฐมจุลจอมเกล้า( ฝ่ายใน) พร้อมกับ รับสั่งให้พระวรกัญญาปทานประทับในพระตำหนักจิตลดารโหฐาน ในขณะที่พระองค์ประทับยังพระราชวังพญาไท ที่อยู่ใกล้กัน ในเวลานั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยือนที่ใด ก็จะมีพระวรกัญญาปทานตามเสด็จด้วยทุกครั้ง รวมทั้งเมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงแสดงละครในเรื่องโพงพาง และศกุนตลา พระคู่หมั้นก็ทรงร่วมแสดงด้วย ในเรื่องศกุนตลานั้น ทรงพระราชทานแก่พระวรกัญญาปทานและมีพระราชนิพนธ์คำอุทิศให้ว่า


หนังสือพระราชนิพนธ์ ศกุนตลา

นาฏกะกลอนนี้ฉันมีจิต
ขออุทิศแด่มิ่งมารศรี
ผู้เป็นยอดเสน่หาจอมนารี
วัลลภาเทวีคู่ชีวัน
ขอหล่อนจงรับไมตรีสมาน
เป็นพยานความรักสมัครมั่น

เหมือนแหวนแทนรักทุษยันต์
แก่จอมขวัญศกุนตลาไซร้
แต่ผิดกันตัวฉันไม่ลืมหล่อน
จนสาครเหือดแห้งไม่แรงไหล
จนตำวันเดือนดับลับโลกไป
จะรักจอดยอดใจจนวันตาย


เรื่องราวดูจะจบลงด้วยดีในสายตาของพสกนิกรผู้ได้พบเห็น แต่แล้ว 6 เดือนต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถอนหมั้นพระวรกัญญาปทาน ด้วยเหตุผลที่ว่า พระอัธยาศัยไม่ต้องกัน และ ยังทรงแต่กลอนตรัสบริภาษ ว่า


"อย่าทะนงอวดองค์ว่างามเลิศ
สวยประเสริฐยากที่จะเปรียบได้
อย่าทะนงอวดองค์ว่าวิไล
อันสุรางค์นางในยังมากมี

อย่าทะนงอวดองค์ว่าทรงศักดิ์
จะใฝ่รักแต่องค์พระทรงศรี
นั่งรถยนต์โอ่อ่าวางท่าที
เป็นผู้ดีแต่ใจไพล่เป็นกา

อย่าดูถูกลูกผู้ชายที่เจียมตน
อย่าดูถูกฝูงชนที่ต่ำกว่า
อย่าทะนงอวดองค์ว่าโสภา
อันชายใดฤๅจะกล้ามาง้องอน

การสิ่งนี้สิเป็นธรรมดา
มนุษย์เราเกิดมาย่อมผันผ่อน
รู้จักรักรู้จักกินรู้จักนอน
รู้ตระแหน่แง่งอนทุกคนไป"


ยังพระราชทานโซ่ทองคำแก่นางเฒ่าแก่และโขลน ไปเกาะพระวรกัญญษปทานมาติดศาลาภายในพระบรมมหาราชวัง ( เรียกว่าจำสนม คือ การลงโทษแก่ฝ่ายในที่ทำผิด ) หรือ " ขังหลวง " โดยสาเหตุที่ต้องโทษนั้น เป็นเพราะพระวรกัญญาปทานนั้นไม่พอพระทัยพระเจ้าอยู่หัว ( ไม่แน่ชัดว่าเรื่อง ใด ) จึงทรงคั่นหน้าบทละครเรื่อศกุนตลาและขีดเส้นเน้นข้อความในตอน ฤษีทุรวาสสาปท้าวทุษยันต์ให้ลืมนางศกุนตลา ว่า


พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลภาเทวี

"ทรงภพผู้ปิ่นโปรพฦาสาย
พระองค์เองสิไม่มียางอาย
พูดง่ายย้อนยอกกรอกคำ
มาหลอกลวงชมเล่นเสียเปล่าๆ
ทิ้งให้คอยสร้อยเศร้าทุกเช้าค่ำ
เด็ดดอกไม้มาดมชมจนช้ำ

ไม่ต้องจดจำนำพา
เหมือนผู้ร้ายย่อเบาเข้าลักทรัพย์
กลัวเขาจับวิ่งปร๋อไม่รอหน้า
จงทรงพระเจริญเถิดราชา
ข้าขอลาแต่บัดนี้"


โดยใจอาจจะเพียงตัดพ้อพระเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ทรงกริ้วมาก เนื่องจากเป็นของพระราชทานแทนจิตประดิพัทธ์ของพระองค์ กระนั้น หากพระวรกัญญาปทานจะละฐิลงและขอพระราชทานอภัยโทษ เชื่อแน่ว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงยอมให้เป็นแน่ แต่พระวรกัญญาปทานนั้นไม่ทรงขออภัยโทษ และยังห้ามให้ผู้ใดทูลขอแทนด้วย ดังนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสให้ออกพระนามอดีตคู่หมั้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี จวบจนเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ พระราชทานอภัยโทษแก่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ในรัชกาลของพระองค์นั่นเอง มีการคาดเดาถึงสาเหตุที่พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงถอนหมั้นพระวรกัญญาปทานหลายด้านด้วยกัน บาง คนกล่าวว่าเป็นเพราะด้วยนิสัยของสตรีที่วู่วามและหึงหวง เมื่อทรงมีโปรดการสนทนากับหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณย์ ( ท่านหญิงติ๋ว พระขนิษฐา ) จึงไม่พอใจและตัดพ้อพระเจ้าอยู่หัว แต่บางกระแสก็กล่าวว่าเป็นเพราะพระวรกัญญปทานนั้น แสดงกริยาและกล่าวดูถูกมหาดเล็กหุ้มแพร คนสนิทของพระเจ้าอยู่หัว ( พระยารามราฆพ ) จนพระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้ว แต่ความจริงจะเป็นเช่นไรนั้น ก็คงมีเพียงทั้งสองพระองค์เท่านั้นที่รู้ นี่คือเรื่องราวคร่าวๆ ต่อไปจะย่อขยายให้เต็มอิ่ม




คำว่า "ขังวังหลวง" นั้นเป็นเพียงคำเปรียบเปรยครับ มิใช่ส่งไปคุมเข้าห้องขังจริงๆ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีแล้ว โปรดให้ย้ายมาประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อทรงเลิกการหมั้นกันแล้ว พระวรกัญญาปทานฯ ก็ยังประทับอยู่ที่พระตำหนักจิตรลดารโฆฐานอยู่อีกชั่วระยะดวลาหนึ่ง แต่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานนั้นมักจะมีฟ้าลงอยู่บ่อยๆ เรื่องนี้พระมหาเทพกษัตรสมุห ( เนื่อง สาคริก ) เคยเล่าให้ฟังว่า เพราะเหตุที่ฟ้าลงบ่อยๆ นี้เอง ล้นเกล้าฯ จึงไม่โปรดที่จะประทับที่พระตำหนักนี้ เหตุที่ฟ้าลงบ่อยนั้นมีการสำรวจแล้วพบว่า มีสายแร่ทองแดงอยู่ใต้ดินครับ การที่โปรดให้ย้ายไปประทับในวังหลวงนั้นไม่ทราบชัดว่าประทับที่ตำหนักองค์ใด ทราบเพียงว่าเมื่อเปลี่ยนรัชกาลใหม่ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ โปรดให้ย้ายออกมาประทับที่เรือนหลวงริมถนนพิชัยตัดกับถนนราชวิถี ซึ่งกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์พระบิดาประทานชื่อว่า "พระกรุณานิวาสน์" ได้ประทับมาตราบสิ้นพระชนม์ เรื่องการย้ายที่ประทับนี้ดูเหมือนจะ เป็นธรรมเนียมในสมัยนั้น เมื่อทรงเลิกการหมั้นกับพระวรกัญญาปทานฯ แล้ว ก็โปรดให้หม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ ย้ายมาประทับที่ตำหนักปารุสกวัน ของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งเวลานั้นเสด็จทิวงคตแล้ว เมื่อโปรดสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ขึ้นเป็นพระบรมราชินีแล้ว ก็โปรดให้พระนางเธอลักษมีลาวัณย้ายไปประทับที่ตำหนักลักษมีวิลาสที่มุมถนน พญาไทตัดกับถนนศรีอยุธยา และยังได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมและประทับเสวยเครื่องว่างรวมทั้งพระกระยาหารด้วยเสมอๆ ในกรณีสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีนั้น เมื่อทรงราชาภิเษกสมรสกับพระนางเจ้าสุวัทนาแล้ว ก็โปรดให้สมเด็จอินทร์ประทับที่พระราชวังพญาไทต่อมา จนมีพระราชดำริที่จะพระราชทานพระราชวังพญาไทให้กรมรถไฟหลวงจัดเป็นโฮเต็ล จึงโปรดให้สมเด็จอินทร์ย้ายไปประทับที่พระที่นั่งวิมานเมฆ และเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จอินทร์ก็ทรงย้ายกลับไปประทับที่ตำหนักเดิมที่ปากคลองภาษีเจริญจนสิ้นพระชนม์ เน้นเรื่อง "ขังวังหลวง" จึงเป็นคำเปรียบเปรยที่พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ทรงประชดประชันล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 มากกว่าจะเป็นเรื่องจำขังกันจริงๆ




ธรรมเนียมในพระราชสำนักแต่โบราณมานั้น ถือว่าบุคคลใดไม่ว่าชายหรืแหญิงเมื่อได้ถวายตัวแล้วถือว่าบุคคลนั้นตกเป็น คนของหลวงหรือของเจ้านายพระองค์นั้นๆ การจะโปรดให้ทำอย่างไรหรือย้ายไปอยู่ที่ไหนจึงสุดแต่พระราชอัทธยาศัยหรือ พระอัทธยาศัย เรื่องคนหลวงนี้มีเรื่องจริงที่พอจะยกเป็นตัวอย่างได้ เรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของจมื่นอมรดรุณารักษ์ ( แจ่ม สุนทรเวช ) กับคุณอุทุมพร วีระไวทยะ ธิดาของพระยาดำรงแพทยาคุณ ( ฮวด วีระไวทยะ ) แพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนี พันปีหลวง กับคุณหญิงสงวน ดำรงแพทยาคุณ เมื่อพระยาดำรงแพทยาคุณได้ ถวายคุณอุทุมพรเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระพันปีหลวงแล้ว คุณอุทุมพรก็ย้ายเข้าไปอยู่ในพระราชสำนักสมเด็จพระพันปีหลวง และโปรดให้ไปศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนราชินี โรงเรียนเลิกก็กลับไปอยู่ที่วังพญาไท เมื่อสมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จสวรรคตคุณอุทุมพรจึงได้ถวายบังคมลากลับมาอยู่ บ้านกับมารดา เพราะบิดาเพิ่งถึงอนิจกรรมไปก่อนสมเด็จพระพันปีหลวงสวรรคตไม่นาน คุณ อุทุมพรได้รู้จักกับนายรองกวด ( แจ่ม สุนทรเวช ) โดยการแนะนำของญาติผู้พี่ท่านหนึ่ง แล้วก็เกิดชอบพอกันมากับนายรองกวด แต่แล้ววันหนึ่งคุณอุทุมพรต้องเดินทางไปนครปฐมกับคุณหญิงสงวน ผู้มารดา การเดินทางไปนครปฐมคราวนี้ทำให้ท่านเจ้าคุณผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมซึ่ง เป็นม่ายมาหมาดๆ ได้พบกับคุณอุทุมพรและได้จัดคนมาสู่ขอคุณอุทุมพรไปเป็นคุณหญิงของท่าน คุณ อุทุมพรจึงได้แจ้งให้นายรองกวดซึ่งได้เลื่อนเป็นนายเล่ห์อาวุธแล้วทราบข่าว ดังกล่าว นายเล่ห์อาวุธทราบข่าวแล้วก็คิดไม่ตกไม่ทราบว่าจะหาทางออกได้อย่างไร จึงได้หาโอกาสนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงทราบความตลอดแล้วมีรับสั่งให้คุณท้าวอินทรสุริยา ( ม.ล.เชื้อ พึ่งบุญ ) คุณพนักงานพระภูษาไปเจรจากับคุณหญิงสงวน แต่คุณหญิงสงวนท่านว่า ได้ตกลงไปกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมแล้ว เกรงจะเสียผู้ใหญ่ จึงได้มีพระบรมราชโองการให้หาคุณหญิงสงวนไปเฝ้าฯ ซึ่งคุณอุทุมพรได้เล่าไว้ว่า


เมื่อกลับจากเฝ้าในวันนั้นคุณแม่เล่าทั้งน้ำตาว่า ในหลวงทรงอ้างสิทธิครอบครองในตัวดิฉัน โดยคุณแม่ได้ถวายสมเด็จพระพันปีหลวงทรงชุบเลี้ยงมา เมื่อสิ้นสมเด็จพระพันปีหลวงแล้วดิฉันก็เป็นพระราชมรดกตกทอดที่เป็นคนของ หลวง เรียกว่า “ห้าม” คุณแม่จึงหมดสิทธิ์ที่จะเอาไปยกให้ใครก็ได้ มีพระราชดำรัสว่า พวกห้ามนี้ถ้าใครอยากจะได้ก็ต้องทำหนังสือขอพระราชทาน มีจานเงินจานทอง ๑ คู่ ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ๑ คู่ แล้วนำทูลเกล้าฯ ถวายเข้ามาตามลำดับ ซึ่งเป็นประเพณีมาแต่โบราณ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะพระราชทานเสมอไป การที่จะพระราชทานหรือไม่นั้นย่อมสุดแต่พระบรมราชวินิจฉัย ทั้งทรงอ้างสิทธิมนุษยชนที่ว่าบุคคลแม้จะเป็นใหญ่หรือบุพการีก็ตาม ไม่ควรบังคับกดขี่น้ำใจใคร มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ในตัวของตัวเอง ที่จะเลือกเคารพบูชาหรือรัก สรรเสริญบุคคล ชาติ ลัทธิ ศาสนาใดๆ ได้ จึงควรที่ผู้เจริญแล้วจะเข้าใจและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยกัน เป็นอันว่าคุณแม่แพ้คดีถึงสองกระทง แต่ล้นเกล้าฯ ก็ทรงมีพระมหากรุณาทรงปลอบคุณแม่ว่า ขออย่าเสียใจและเข้าใจผิด การครั้งนี้ท่านไม่ได้ทรงกระทำอย่างเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่ใช้พระราชอำนาจกด ขี่ข่มเหงราษฎร แต่ทรงสงสารที่ทั้งสองคนรักกันและทรงมีเหตุผลประกอบอันสมควร จึงขอให้คุณแม่จงสบายใจว่าจะทรงรับเป็นเจ้าภาพฝ่ายชาย และจะพระราชทานความช่วยเหลือทุกอย่างที่คุณแม่เดือดร้อน ทรงรับรองว่าจะชุบเลี้ยงทั้งดิฉันและนายเล่ห์อาวุธไม่ให้ต้องอับอายไปในภาย หน้า หลังจากนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้ดิฉันเข้ารับราชการในบางโอกาสเวลามีงานหลวงใหญ่ๆ ที่เชิญเสด็จพระบรมวงศ์ฝายในบ่อยๆ เช่น งานวังปารุสกวัน งานวังพญาไท ครั้งหนึ่งพระวรชายา ( สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ) เคยทรงกริ้วว่าใครเอาข้าหลวงพระนางลักษมี ( พระนางเธอลักษมีลาวัณ ) มาใช้ ล้นเกล้าฯก็ทรงแก้ว่าดิฉันเป็นข้าหลวงเสด็จแม่ต่างหาก แล้วในที่ สุดล้นเกล้าฯ ก็ทรงรับเป็นเจ้าภาพฝ่ายชายจัดการสมรสพระราชทานให้แก่นายเล่ห์อาวุธซึ่งเวลา นั้นได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น นายจ่ารง กับคุณอุทุมพร วีระไวทยะ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2467 เรื่องการถวายจาน เงินจานทองตามธรรมเนียมนั้นยังปรากฏในจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ว่า ครั้งที่โปรดให้มีการสมรสพระราชทานแก่ พระสุจริตธำรง (สวาท สุจริตกุล) กับนางสาวจรัส อภัยวงศ์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2466 นั้น โดยที่นางสาวจรัส อภัยวงศ์ได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี "จึ่งมีการถวายจานเงินจานทองและของต่างๆ ตามแบบเก่าด้วย"



เจ้าพระยารามราฆพ


ส่วนเรื่องที่คาดเดากันว่าอาจจะเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ไม่ทรงพอพระทัยนั้น คือเรื่องพระวรกัญญปทาน แสดงกริยาและกล่าวดูถูกมหาดเล็กหุ้มแพร คนสนิทของพระเจ้าอยู่หัว ( พระยารามราฆพ ) ก็มีการเล่าขานสืบต่อมาดังจะกล่าวนี้ ซึ่งตามที่ได้ยินได้ฟังมานั้น ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ โดยรถยนต์หรือรถม้าไม่แน่ชัดพร้อมด้วยพระวรกัญญาปทาน โดยมีเจ้าพระยารามราฆพซึ่งเวลานั้นยังเป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการ ผู้ช่วยสมุหราชองครักษ์โดยเสด็จฯ ตามตำแหน่ง เมื่อถึงที่หมายเจ้าพระยารามฯ ลงไปรอรับเสด็จที่ประตูรถตามหน้าที่ เมื่อพระวรกัญญาปทานจะเสด็จลงจากพระราชพาหนะก่อนที่ล้นเกล้าฯ จะเสด็จลง เจ้าพระยารามฯ ได้ยื่นมือไปรอรับเสด็จเพื่ออำนวยความสะดวกในเวลาเสด็จลงจากรถตามธรรมเนียม ฝรั่ง พระวรกัญญาปทานทรงชักพระหัตถ์หนีพร้อมมีรับสั่งตำหนิเจ้าพระยารามฯ ด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ล้นเกล้าฯ จึงกริ้วและเป็นเหตุให้ทรงถอนหมั้นพร้อมกับทรงพระราชนิพนธ์บทประพันธ์ที่มี การหยิบยกขึ้นมานั้น เท่าที่ได้ทราบมานั้น ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นสุภาพบุรุษที่ทรงให้ความสำคัญกับสุภาพสตรี ถึงกับทรงพระราชนิพนธ์บทความเกี่ยวกับสถานภาพสตรีไปลงในหนังสือพิมพ์พระราช ทานชื่อว่า "เครื่องหมายแห่งความเจริญรุ่งเรือง คือสถานภาพแห่งสตรี" นอกจากนั้นยังทรงสอนคุณพนักงานฝ่ายในให้รู้จักเล่นไพ่ต่างๆ รวมทั้งบิลเลียดและสนุกเกอร์ ท่านผู้หญิงอุศนา ปราโมช และคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ คุณข้าหลวงเก่าเคยเล่าให้ฟังว่า มักจะรับสั่งกับคุณพนักงานว่า ที่ทรงสอนให้รู้จักการเล่นต่างๆ นั้นก็เพื่อว่า เวลาที่คุณพนักงานนั้นออกเรือนไปมีครอบครัวแล้วจะได่ไม่ถูกสามีหลอก หรือ เมื่อครั้งที่จะโปรดให้ออกพระนามสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี เมื่อตอนปลายรัชกาลนั้น ก็ได้มีพระราชหัตถเลขาทรงชี้แจงไปยังเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี ( ปลื้ม สุจริตกุล ) ผู้เป็นบิดาของสมเด็จฯ พระราชหัตถเลขาองค์นั้นยาวถึง 6 หน้า วันหนึ่งทายาทของเจ้าพระยาสุธรรมฯ คนหนึ่งได้เชิญลายพระราชหัตถ์นั้นมาให้อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการท่านหนึ่ง อ่าน แต่ผมซึ่งนั่งอยู่ ณ ทั้นั้นด้วยไม่มีบุญได้อ่าน คงได้ยินแต่ท่านอดีตปลัดกระทรวงฯ อุทานว่า อ่านแล้วซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเหลือเกิน


ฉะนั้นเรื่องที่ล้น เกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ทรงถอนหมั้นพระวรกัญญาปทานนั้น คงจะมีที่มาจากสาเหตุหลายเรื่อง ถ้าพิเคราะห์จากบทพระราชนิพนธ์แล้ว น่าเชื่อว่า พระอัทธยาศัยคงจะไปด้วยกันไม่ได้เลย เพราะล้นเกล้าฯ นั้นทรงเป็นนักเรียนอังกฤษ ทรงถูกฝึกหัดมาให้เป็นผู้นำ และวิธีการฝึกหัดผู้นำของอังกฤษนั้น ต้องได้รับการฝึกหัดให้เป็นผู้ตามที่ดีก่อน และในรัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 นั้น ทรงส่งเสริมให้สามัญชนขึ้นมามีตำแหน่งราชการในระดับสูงเป็นจำนวนมาก ในขณะที่เจ้าซึ่งมักจะถือตนว่า เป็นเจ้า มีสถานะเหนือกว่าสามัญชนนั้นถูกลดบทบาทลงจนแทบจะไม่มีตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า พระวรกัญญาปทานซึ่งทรงมีฐานันดรเดิมเป็นหม่อมเจ้า เมื่อได้ทรงเป็นพระคู่หมั้นจึงคงจะทรงวางพระองค์ไปในทำนองที่ปรากฏในบทพระ ราชนิพนธ์ที่ว่า "...อย่าทะนงอวดองค์ว่าทรงศักดิ์ จะใฝ่รักแต่องค์พระทรง ศรี..." ซึ่งล้นเกล้าฯ คงจะทรงรับไม่ได้ในข้อนี้ ในเวลาต่อมาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณประไพ สุจริตกุล เป็นพระอินทราณี พระสนมเอก แล้วเลื่อนเป็น พระวรราชชายาเธอ พระอินทรศักดิศจี แล้วเลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี อันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยว่า มิได้ทรงถือพระองค์เป็นเจ้าเป็นไพร่ดังเช่นที่เจ้านายในสมัยนั้นทรงนิยมถือ ปฏิบัติกัน ดังมีพยานปรากฏในพระนิพฯธ์ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ที่ทงเล่าไว้ใน "สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น" ว่า เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นมีเจ้านายพระองค์หนึ่งประทับรถไฟชั้น หนึ่งเสด็จไปหัวเมือง เผอิญมีนายทหารชั้นนายพลที่มิใช่เจ้าเดินทางไปกับรถไฟขบวนนั้น และได้ไปนั่งที่ชั้นหนึ่งร่วมกับเจ้านายพระองค์นั้น เลยถูกไล่ให้ไปนั่งที่โบกี้อื่นเพราะทรงรังเกียจว่านายทหารท่านนั้นเป็น ไพร่ ทั้งที่นายทหารท่านนั้นก็ซื้อตั๋วรถไฟชั้นหนึ่งเหมือนกัน



พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ

สำหรับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 แต่เนื่องจากพระนางเธอลักษมีลาวัณ มิได้มีรัชทายาทได้ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ หัว ทั้งสองพระองค์จึงมิได้อภิเษกสมรสกัน และทรงตัดสินพระราชหฤทัยแยกกันอยู่ พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงแยกอยู่ตามลำพัง ณ พระตำหนักในซอยพร้อมพงศ์ ริมคลองแสนแสบ ทรงใช้ชีวิตอย่างสงบ และทรงใช้เวลาว่างในการทรงพระนิพนธ์ร้อยกรอง บทละคร และนวนิยายไว้เป็นจำนวนมาก โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า ปัทมะ วรรณพิมล และ พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงดำเนินกิจการคณะละครปรีดาลัย ที่พระบิดาได้ทรงริเริ่มไว้ คณะละครปรีดาลัยในพระอุปถัมภ์ ได้สร้างศิลปินนักแสดงที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น มารุต, ทัต เอกทัต, จอก ดอกจันทน์

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงย้ายไปประทับที่ พระตำหนักลักษมีวิลาศ ถนนศรีอยุธยา และทรงพระนิพนธ์บทกวี และนวนิยาย เช่น ชีวิตหวาม เรือนใจที่ไร้ค่า ยั่วรัก โชคเชื่อมชีวิต ภัยรักของจันจลา และ เสื่อมเสียงสาป ในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 คนสวนที่ถูกพระนางเธอลักษมีลาวัณไล่ออกไปคนหนึ่ง เห็นว่าทรงเจ้านายสตรี ทรงพระชรา และทรงอยู่ตามลำพัง กับทั้งเคยสังเกตว่าในตู้ชั้นล่างพระตำหนักลักษมีวิลาศมีเครื่องราช อิสริยาภรณ์ เข้าใจว่าเป็นของมีราคา ก็กลับเข้ามายังพระตำหนักลักษมีวิลาศ สี่แยกพญาไท และย่องเข้ามาทางข้างหลังใช้ชะแลงทำร้ายพระเศียรขณะประทับพรวนดินอยู่จนสิ้น พระชนม์ แล้วค้นทรัพย์สินเท่าที่หาได้หนีไป ได้ไปแต่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่ไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นเลย ชายคนสวนผู้นั้นจำนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วยไม่รู้จัก เจ้าของโรงรับจำนำเห็นผิดสังเกตจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชายคนสวนผู้นั้นรับสารภาพถึงการฆาตกรรม และกล่าวว่าตนทราบแต่เพียงว่าพระนางทรงเป็นเจ้านาย ไม่คิดว่าจะทรงเป็นเจ้านายใหญ่ถึงเพียงนั้น ครั้งนั้น พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา ได้รับโทรศัพท์จาก นางสาวแน่งน้อย แย้มศิริ นิสิตจุฬาฯ เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2504 เวลา 15.30 น. ว่าตนไปกดออดและโทรศัพท์เข้าไปยังวังลักษมีวิลาศ แต่ไม่มีใครตอบหรือรับสาย อาจจะมีเหตุร้าย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เสด็จไปยังวังลักษมีวิลาศ และทรงพบพระศพอยู่บริเวณข้างโรงรถ พระชนมายุรวม 62 ชันษ


********** ********** **********




โอ้เจ้าหงส์ฟ้าเอย แสนงาม
เหตุไฉนถึงทรามทำตัวเย่อหยิ่งหนักหนา
อวดเป็นหงส์ทอง ลอยล่องฟ้า

เหยียดหยามปักษาพวกเดียวกันว่าต่ำเพียงดิน
ศักดิ์เจ้าเป็นหงส์ทอง โสภา
แต่สกุลนั้นหนาเจ้ามีค่าเพียงปักษิณ

อวดทะเยอทะยานเหิรลอยสูงเยี่ยมเมฆินทร์
เหยียดหยามชาวดิน
โบยบินข้ามหัวไม่กลัวเกรง

อย่าหยิ่งนักเลยนะเจ้า พลาดพลั้งจะเหงา
ซบเซาเศร้าทรวงเอง
เพราะเจ้านั้นไม่กลัวเกรง
เหยียดหยามกันเองว่าเป็นปักษาที่ต่ำวงศ์

โอ้ เจ้าหงส์ฟ้าเอย โสภี
อย่าทนงนักซี คิดดูให้ดีนะหงส์
หากลมบนพัดพา

ฝนฟ้ากระหน่ำเปียกองค์
พลาดอาจถลาลง
หงส์เอยปีกหักแล้วจะโทษใคร


dekpakdee
21-11-53

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในราชสำนัก ตอน พระราชพิธีจองเปรียง และ พระราชพิธีลอยพระประทีป




พระราชพิธีจองเปรียง และ พระราชพิธีลอยพระประทีป




ลอยกระทงขอขมาแม่คงคา
สืบสานตำนานพระร่วงเจ้า
เพื่อคัดดาวดวงเด่นเป็นสักขี
เพื่อสร้างความรู้รักสามัคคี

เพื่อประเพณียังอยู่คู่ชุมชน
ลอยกระทง ลอยเคราะห์กระเทาะโศก
ลอยกระทงเสี่ยงโชคปีละหน
อธิษฐาณริมธารผ่านสายชล

อภิบาลผู้คนฉ่ำอุรา
กายกรรม มโนกรรม วจีกรรม
เคยเหยียบย่ำหยามหลู่มิรู้ค่า
อภิวันท์กรานต์กราบขอขมา
แม่คงคาแม่แสนดีแม่มีคุณ.

การลอยพระประทีปหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ลอยกระทงนั้นเป็นเทศกาลรื่นเริงเก่าแก่ที่เป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไป หลายคนเข้าใจว่าเทศกาลรื่นเริงนี้มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยมีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระสนมเอกในพระร่วงเจ้าเป็นผู้คิด ประดิษฐ์กระทงดอกไม้สำหรับลอยเพื่อสักการะพระพุทธบาทและขอขมาพระแม่คงคา หลายคนยังเข้าใจอีกว่าเทศกาล รื่นเริงนี้มีที่มาจากการลอยโคมหรือที่โบราณเรียกว่า “พิธีจองเปรียง” ซ้ำร้ายหลายคนยังไพล่เข้าใจไปอีกว่า “พิธีจองเปรียง” หรือการลอยโคมก็คือพิธีเดียวกับ ”เทศกาลยี่เป็ง” ของทางภาคเหนือ เพราะคิดว่าพิธีจองเปรียงหรือลอยโคมก็คือการปล่อยโคมไฟลอยขึ้นฟ้า แต่มีน้อยคนนักที่จะทราบที่มาของเทศกาลลอยกระทงอย่างแท้จริง



ปัจจุบันคนโดยทั่วไปมักเข้าใจว่าการพระราชพิธีจองเปรียง หรือ ลอยโคม นั้นเป็นที่มาหรือต้นเค้าแห่งพระราชพิธีลอยพระประทีป หรือ ลอยกระทงใน ปัจจุบัน อาจเป็นเพราะระยะเวลาของการจัดพิธีทั้งสองดังกล่าวที่คาบเกี่ยวกัน คือ พระราชพิธีจองเปรียงนั้นปีใดมีอธิกมาสคือมีเดือน ๘ สองหน จะยกโคมในวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๑๒ จนถึง วันแรม ๒ ค่ำ จึงลดโคมลง ถ้าปีใดไม่มีอธิกมาสยกโคมในวันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๑๒ จนถึงวันขึ้น ๒ ค่ำเดือนอ้าย และการลอยกระทงนั้นปัจจุบันนิยมจัดกันวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ หรืออาจจะเป็นด้วยเหตุที่ว่าชื่อลำลองของพระราชพิธีจองเปรียงซึ่งก็คือ “ลอยโคม” นั้นมีความใกล้เคียงหรือคล้ายกับชื่อ “ลอยกระทง” จึงทำให้คิดกันไปว่าลอยโคมก็คือการเอาโคมมาลอยลงน้ำ และโคมนั้นต่อมาก็พัฒนามาอยู่ในรูปของกระทงในที่สุด หรืออาจจะมาจากเนื้อความในหนังสือเรื่อง นางนพมาศ ซึ่งเป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวของนางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในพระร่วงเจ้า แห่งราชอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งความเข้าใจดังกล่าวนี้อาจเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก




ในหนังสือเรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ตอนที่ว่าด้วยพระราชพิธีจองเปรียงนั้นได้กล่าวถึงสติปัญญาความสามารถของท้าว ศรีจุฬาลักษณ์ว่าเป็นผู้คิดประดิษฐ์กระทงรูปดอกกระมุทหรือดอกบัวซึ่งประดับ ด้วยประทีปที่ทาด้วยเปรียงถวายพระร่วงเจ้าเพื่อทรงลอยในพระราชพิธีจองเปรียง ดังความต่อไปนี้

“ฝ่ายสนมกำนัลก็ ทำโคมลอยด้วยบุปผชาติเป็นรูปต่าง ๆ ประกวดกันถวายให้ทรง อุทิศบูชาพระบวรพุทธบาท ซึ่งประดิษฐานยังนัมมานที และข้าน้อยก็กระทำโคมลอยคิด ตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมพระสนมทั้งปวงจึงเลือกผกาเกสรสีต่าง ๆ ประดับเป็นรูป ดอกกระมุทบานกลีบรับแสงจันทร์ใหญ่เท่ากงระแทะทั้งเสียบแซมเทียนธูปและ ประทีป น้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค ครั้นเพลาพลบค่ำ สมเด็จพระร่วงเจ้าเสด็จลงพระที่นั่ง ชลพิมาน พร้อมด้วยพระอัครชายาพระบรมวงศ์และพระสนมกำนัล นางท้าวชาวชะแม่ทั้งปวง ฝ่ายนางท้าวชาวชะแม่ก็ลอยโคมพระราชเทพี พระวงศานุวงศ์โคมพระสนมกำนัล เป็นลำดับกันมา ถวายให้ทอดพระเนตรและทรงพระราชอุทิศ ครั้นถึงโคมรูปดอกกระมุทของข้าน้อย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรพลางทางตรัสชมว่าโคมลอยอย่างนี้ งามประหลาดยังหาเคยมีไม่ เป็นโคมของผู้ใดคิดกระทำ ท้าวศรีราชศักดิ์โสภาก็กราบทูล ว่าโคมของนพมาศธิดาพระศรีมโหสถ ครั้นทรงทราบก็ดำรัสถามข้าน้อยว่าทำโคมลอยให้ แปลกประหลาดจากเยี่ยงอย่างด้วยเห็นเหตุเป็นดังฤๅ ข้าน้อยก็บังคมทูลว่านักขัตฤกษ์วัน เพ็ญเดือน ๑๒ พระจันทรแจ่มแสงปราศจากเมฆมลทิน ถ้าชาติอุบลเหล่าใดบาน ผกาเกสรรับแสงพระจันทร์แล้วก็ได้ชื่อว่าดอกกระมุท ข้าพระองค์จึงทำโคม ลอยเป็นรูปดอกกระมุท ซึ่งบังเกิดอยู่ยังนัมมทานที่อันเป็นที่พระบวรพุทธ บาทประดิษฐานกับแกะรูปมยุราวิหกหงส์ ประดับ และมีประทีปเปรียงเจือด้วยไข ข้อพระโคถวายในการทรงพระราชอุทิศครั้งนี้ ด้วยจะให้ถูกต้องสมกับนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียง โดยพุทธศาสน์ไสยศาสตร์ ครั้นสมเด็จ พระร่วงเจ้าได้ทรงสดับ ก็ดำรัสว่าข้าน้อยนี้มีปัญญาฉลาดสมที่เกิดในตระกูล นักปราชญ์ กระทำถูกต้องควรจะถือเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ จึงมีพระราชบริหารบำหยัดสาปสรรว่า แต่นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับในสยามประเทศ ถึงกำหนด นักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน”




จากเนื้อความดังกล่าวข้างต้นนี้เองที่กลายมาเป็นกรอบความคิดของคนปัจจุบัน ให้เข้าใจว่าการลอยกระทงนั้นมีที่มาจากพระราชพิธีจองเปรียง ความเชื่อดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอนถ้าบุคคลผู้นั้นไม่เชื่อ ว่า นางนพมาศมีตัวตนจริง และเนื้อความที่ปรากฏในตำรับท้าวศรี-จุฬาลักษณ์หรือนางนพมาศนี้เป็นบันทึก เหตุการณ์ของนางนพมาศจริง แต่หากได้พิจารณาเนื้อความตลอดจนสำนวนภาษาที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้แล้วก็จะพบ ปัญหาบางประการที่ทำให้คิดไปได้ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่น่าจะเก่าแก่ถึงขนาด สมัยสุโขทัย ปัญหาดังกล่าวก็คือปัญหาเรื่องการใช้สำนวนภาษาเพราะหากเราเอาสำนวนภาษาที่ ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ไปเปรียบเทียบกับหนังสือหรือจารึกต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัย เช่น ไตรภูมิกถาของพระมหาธรรมราชา หรือ พระยาลิไทยซึ่งเป็นหนังสือที่แต่งเป็นความเรียงร้อยแก้วที่เชื่อกันว่าแต่ง ในสมัยสุโขทัยเช่นกัน จะพบว่าสำนวนภาษาที่ใช้นั้นผิดกันมาก จนไม่น่าจะเป็นงานเขียนในยุคเดียวกันหรือใกล้เคียงกันดังจะเห็นได้จากสำนวน ภาษาของไตรภูมิกถาดังต่อไปนี้

“เนื้อความในไตรภูมิกถานี้มีในกาลเมื่อ ใดไส้ และมีแต่ในปีระกาโพ้นเมื่อศักราชได้ ๒๓ ปี ปีระกา ๔ เพ็งวันพฤหัสบดีวาร ผู้ใดหากสอดรู้บมิได้ไส้สิ้น เจ้าพระญาเลไทยผู้เป็นลูกแห่งเจ้าพระญาเลลิไทย ผู้เสวยราชสมบัติในเมืองศรีสัชชนาไลยและสุโขทัย และเจ้า พระญาเลลิไทยนี้ธเป็นหลานเจ้าพระญารามผู้เป็นสุริยวงษ์ และเจ้าพระยาเลไทยได้เสวยราชสมบัติในเมืองสัชชนาไลยอยู่ได้ ๖ เข้า จึงได้ไตรภูมิถามุนใส่เพื่อใด ใส่เพื่อมีอัตถพระ อภิธรรมและจะใคร่เทศนาแก่พระมารดาก่อน”



จากตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นซึ่งตัดตอนมาจากบานแพนกในไตรภูมิพระร่วงนั้นจะพบ ตัวอย่างการใช้สำนวนภาษาที่มีความแตกต่างกับการใช้ภาษาในตำรับท้าวศรี จุฬาลักษณ์อย่างมาก จนทำให้ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นในสมัยเดียวกัน จึงนำไปสู่ปัญหาในข้อต่อมาว่าแล้วตัวนางนพมาสหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์นี้แต่ง ในสมัยใดกันแน่ และเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ในประเด็นดังกล่าวนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าเรื่องตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นี้แต่ง ในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง เพราะดูจากการใช้ภาษาแล้วไม่น่าจะเก่าไปกว่าสมัยรัชกาลที่ ๒ หรือรัชกาลที่ ๓ อีกทั้งยังทรงเคยทอดพระเนตรเห็นต้นฉบับเรื่องตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์จากเจ้า นายฝ่ายในพระองค์หนึ่งจึงทำให้ทรงทราบว่าเรื่องตำรับท้าวศรจุฬาลักษณ์นี้พระ บาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นทรงเป็นผู้พระราชนิพนธ์เองไม่ใช่ตัว นางนพมาศบันทึกไว้แต่อย่างใด


แม้ความจริงเรื่องประวัติวรรณคดีตลอดจนสมัยที่แต่งจะระบุแน่ชัดว่าเรื่อง ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นี้จะแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เองไม่ใช่สมัยสุโขทัย แต่อย่างใด แต่ก็อาจมีผู้แย้งว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจจะทรงนำเค้ามูล เดิมมาพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ก็ได้ ถ้าความจริงเป็นดังนั้นก็น่าจะปรากฏ “แต่ นี้สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับในสยามประเทศ ถึงกำหนดนักขัตฤกษ์วันเพ็ญเดือน ๑๒ พระราชพิธีจองเปรียงแล้ว ก็ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทอุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมทานทีตราบเท่า กัลปาวสาน” แต่จากหลักฐานที่ปรากฏในวรรณคดีที่มีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกับการพระราชพิธี เรื่องต่าง ๆ ในสมัยต่อจากสุโขทัยทั้งสมัยอยุธยาอย่างเรื่อง “โคลงทวาทศมาส” และในสมัยรัตนโกสินทร์คือเรื่อง “โคลงพระราชพิธีทวาทศมาศ” พระนิพน์ในสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และ “พระราชพิธี ๑๒ เดือน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่างก็ปรากฏเนื้อความในลักษณะที่ว่าการพระราชพิธีจองเปรียงและพระราชพิธีลอย พระประทีปนั้นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด



ประเพณีพระเจ้าแผ่นดินทรงลอยพระประทีบและคนทั่วไป ลอยกระทงนั้นในพระราชนิพนธ์พระราชพิธี ๑๒ เดือน ว่าเป็นประเพณีที่มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยฝ่ายเหนือโน้นแล้ว เรือทอดทุ่นในพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร แต่สำหรับนางนพมาศ ซึ่งว่าเป็นพระสนมเอกในพระร่วงเจ้า ผู้แต่งตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ โดยอ้างไว้ในเรื่องนั้นเองว่าเป็นประวัติของนาง และนางเป็นผู้คิดประดิษฐ์กระทงดอกบัวขึ้นมาถวายพระร่วง ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพระราชสันนิษฐาน และทรงสันนิษฐานว่า น่าจะมิใช่นางนพมาศสมัยสุโขทัยแต่ง สำนวนของผู้แต่งน่าจะอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง โดยเฉพาะการเผลอกล่าวถึงชาวยุโรป ซึ่งในสมัยสุโขทัยยังไม่มีเข้ามาวุ่นวาย ทำให้ทรงพระราชสันนิษฐาน และทรงสันนิษฐานต่อไปว่าสำนวนโวหารน่าจะเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ ด้วยซ้ำไป ทรงพระราชนิพนธ์โดยสมมุติพระองค์เองเป็นนางนพมาศ เพื่ออบรมสั่งสอนพระสนมบริจาริกา และนางในทั้งหลายในราชสำนักของพระองค์ ทั้งนี้อาจจะทรงนำเค้าที่เล่าๆ กันมาถึงเรื่องนางนพมาศสมัยสุโขทัย ซึ่งนางนพมาศอาจจะมีตัวจริงหรือไม่มีเป็นเพียงตำนานก็ได้ อย่างไรก็ตาม พระราชประเพณีลอยพระประทีปก็มีต่อมาลงมาเรื่อยๆ จากสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เสด็จพระราชดำเนินลงลอยพระประทีปตรงพระตำหนักแพลอย (หน้าท่าราชวรดิฐปัจจุบันนี้) เป็นการเสด็จฯออกนอกกำแพงพระราชวังและนอกกำแพงพระนคร จึงต้องจัดการป้องกันรักษาพระองค์อย่างแข็งแรง พนักงานกรมต่างๆ ทั้งกรมวัง กรมทหาร กรมพระตำรวจ กรมอาสา ฯลฯ ลอยเรือล้อมวงทอดทุ่นเป็นสามสาย สายใน สายกลาง และสายนอก สายละประมาณยี่สิบลำ หน้าพระตำหนักแพลอยทอดเรือบัลลังก์สองลำขนานกัน เรือบัลลังก์ลำหนึ่งสำหรับเสด็จลงจุดพระทีปและประทับทอดพระเนตร เรือบัลลังก์ลำหลังจัดเป็นที่บรรทม ที่สรงลงพระบังคน และทอดเครื่องเสวย มีพระสุธารสเป็นต้น เพราะมักจะเสด็จลงประทับตั้งแต่หัวค่ำไปจนสิ้นเวลาลอยประทีป ในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ นั้น กระทงหลวงทำเป็นเรือต่างๆ ประดิษฐ์รูปสัตว์ต่างๆ มีเรือหยวกบริวาร ๕๐๐ ทรงจุดประทีปเรือหลวง แล้วก็เรือสำเภาของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี เรือพระบรมวงศานุวงศ์ แล้วจึงโปรดฯให้ปล่อยเรือกระบวนของข้าราชการ จุดประทีปลอยมากลางน้ำระหว่างทุ่นสายในกับเรือบัลลังก์ที่ประทับ ในรัชกาลที่ ๑ มีเหตุ พระองค์เจ้าจันทบุรีพระชันษา ๕ ปี พลัดตกลงไปในน้ำระหว่างเรือบัลลังก์ก็จอดขนานกันในขณะตามเสด็จฯลงลอยพระประทีปนี้ ซึ่งเคยเล่ามาแล้ว



********** ********** **********

dekpakdee
20-11-53

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในราชสำนัก ตอน พระบรมโกศ โกศ และ พระราชทาน




เมื่อได้ทำพิธีรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพแล้ว ก็มาถึงการนำศพเข้าโกศ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในขั้นตอนนี้จะเป็นเจ้าพนักงานภูษามาลา ผมเรียกว่าสนมพลเรือนตลอดเพราะคิดว่าภูษามาลาจะถวายการปฏิบัติ เฉพาะพระศพเจ้านายเท่านั้น ท่านผู้สันทัดกรณีแก้ว่าไม่ใช่แบบนั้น สนมพลเรือนจะทำงานประเภทยกแยกแบกหาม การสุกำศพจะต้องกระทำโดยภูษามาลาเท่านั้น ปัจจุบันยังมีเจ้าพนักงานภูษามาลารับราชการอยู่ร่วมสามสิบคน ศพหรือพระศพ พระบรมศพ ที่นอนอยู่บนเตียงตั่งจะถูกยกเข่าขึ้นแนบมากับท้อง จัดเหมือนท่านั่งชันเข่า แล้วรวบแขนเอามืออ้อมขามาไว้ข้างหน้า ผมลงนั่งยองๆทำท่าเอาแขนอ้อมเข่าไปพนมมือให้ท่านดู ซึ่งทำได้ยากยิ่งแต่ก็ทำได้ ท่านหัวเราะบอกว่าอย่างคุณนี่สบายมาก โดนกัปปาสิกะ ( เชือกทำด้วยด้ายดิบขาว ) ขันชะเนาะทีเดียวก็เข้าที่ ผมยังไม่หายสงสัยว่าร่างกายขนาดผมนี่เข้าโกศจะต้องมีคนขย่มบ่าด้วยหรือ เปล่า ท่านผู้สันทัดกรณี ทำหน้างงว่าทำไมต้องทำ ก็ใช้โกศใหญ่หน่อยซี เอ้อ นี่ก็ความรู้ใหม่นะครับ โกศมิได้มีขนาดเดียว แต่มีครบทุกขนาด ตั้งแต่ขนาดผู้หญิง ผู้ชาย อ้วนหรือผอม “ ส่วนใหญ่ศพที่เข้าโกศมักจะเจ็บป่วยก่อนตาย ร่างกายจะผ่ายผอมเหลือนิดเดียว ที่อุบัติเหตุตาย มีน้อยมาก” ท่านเล่า โกศที่กำลังพูดถึงนี้คือโกศลองใน ส่วนโกศลองนอกไม่ต้องเป็นห่วง เพราะมีขนาดใหญ่มากอยู่แล้ว
พระโกศ มีอยู่ 2 ชั้นด้วยกัน คือ ชั้นใน เรียกว่า “โกศ” ทำด้วยเงินสำหรับกษัตริย์เท่านั้น ส่วนทองแดงหรือเหล็กสำหรับราชวงศ์และข้าราชการ ชั้นนอก เรียกว่า “ลอง” ทำด้วยโครงไม้หุ้มทอง ปิดทองประดับกระจกอัญมณี ใช้สำหรับประกอบปิดโกศชั้นใน เรียกพระโกศที่ประกอบนอกนี้ว่า พระลอง มีหลายลำดับตามฐานานุศักดิ์ที่ได้รับ โดยเครื่องประกอบศพบรรดาศักดิ์ของไทยมี 2 แบบ คือ โกศบรรดาศักดิ์ และหีบบรรดาศักดิ์ โดยโกศบรรดาศักดิ์ จะมีพระโกศทองที่ถือว่าเป็นพระโกศที่มีบรรดาศักดิ์สูงที่สุด โดยมี พระโกศทองใหญ่ ( พระลองทองใหญ่ ) ที่จัดลำดับว่าสูงสุด ทำจากไม้แกะสลักทรงแปดเหลี่ยมหุ้มทองคำตลอดองค์ ฝายอดมงกุฎ มีลวดลายที่วิจิตรงดงามมาก สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2351 สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สร้างไว้สำหรับพระบรมศพของพระองค์ เมื่อทำสำเร็จ ในปีนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ พระองค์ทรงพระอาลัยมากและใคร่จะทอดพระเนตรพระโกศทองใหญ่ออกพระเมรุตั้งพระ เบญจา จึงโปรดฯให้เชิญพระโกศทองใหญ่ไปประกอบพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นครั้งแรก



โบราณถือว่า ถ้าไม่มีการตายเกิดขึ้นแล้วเอาพระโกศมาประกอบกับพระเบญจาครบชุดเช่นนี้จะ เป็นลางไม่ดี เกิดอาเพศ ไม่มีใครกล้าทำกัน จึงทำให้ไม่เห็นความงามหรือข้อบกพร่องที่จะต้องแก้ไข แต่ด้วยมีเหตุจึงตั้งได้ โดยไม่มีข้อขัดข้องใด ๆ จากเหตุการณ์นี้ จึงเป็นประเพณีในรัชกาลต่อมาให้มีการพระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพเป็น พิเศษ นอกจากพระบรมศพเรื่อยมา โดยพระโกศทองใหญ่เมื่อใช้ทรงพระศพเจ้าฟ้าที่ไม่ได้สถาปนาเป็นพิเศษ จะเอาดอกไม้เพชรฝาโกศกับดอกไม้เอวเพชรออกด้วย คงเหลือแต่พุ่มเพชรกับเฟื่องเพชร แต่ถ้าพระราชทานเป็นกรณีพิเศษจะใส่เครื่องประดับครบชุด”


พระบรมโกศ พระโกศ โกศ พระราชทานนั้น แบ่งลำดับชั้นศักดิ์ ได้ดังนี้


1.พระโกศทองใหญ่


พระโกศทองใหญ่ รัชกาลที่ 1


พระโกศทองใหญ่ หรือ พระลองทองใหญ่ เป็นพระโกศสำหรับทรงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระศพของพระบรมวงศ์ชั้นสูง สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช นับเป็นพระโกศที่มีลำดับยศสูงที่สุด โดยใช้สำหรับบรรจุพระศพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นพระองค์แรก และใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นพระองค์ล่าสุด พระโกศทองใหญ่จำหลักด้วยทองคำจริง ๆ หนักประมาณ 50 ชั่ง หรือประมาณ 5 ล้านกว่าบาทตามอัตราทองปัจจุบัน.



พระโกศทองใหญ่ รัชกาลที่ 5

พระโกศทองใหญ่สร้างขึ้นเมื่อปีมะโรง จุลศักราช 1170 ตรงกับ พุทธศักราช 2351 โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้รื้อทองที่หุ้มพระโกศกุดั่นมาใช้สำหรับทำพระโกศทองใหญ่เพื่อไว้สำหรับทรง พระบรมศพของพระองค์เอง พระโกศทองใหญ่ทำจากไม้แกะสลัก มีรูปทรงแปดเหลี่ยม หุ้มทองคำตลอดองค์ และมีฝาเป็นยอดมงกุฎ เมื่อการสร้างพระโกศเสร็จสมบูรณ์แล้ว พระองค์โปรดให้นำพระโกศองค์นี้เข้าไปตั้งถวายเพื่อทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ แต่ในปีเดียวกันนั้นเองสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพสิ้นพระชนม์ลง ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระอาลัยเป็นอันมาก รวมทั้ง พระองค์ทรงใคร่จะทอดพระเนตรพระโกศทองใหญ่เมื่อตั้งพระเบญจาในคราวออกพระเมรุ ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองใหญ่ประกอบพระลองในสำหรับบรรจุพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพเป็นครั้งแรก และด้วยเหตุนี้จึงเป็นประเพณีในรัชกาลต่อ ๆ มาที่จะพระราชทานพระโกศทองใหญ่สำหรับทรงพระศพอื่นได้นอกเหนือจากพระบรมศพ แต่จะพระราชทานเครื่องประดับพระโกศตามพระอิสริยยศของเจ้านายที่พระราชทานพระ โกศทองใหญ่ให้ทรงพระบรมศพหรือพระศพ โดยปกติพระบรมศพนั้นจะพระราชทานดอกไม้เพชร ดอกไม้ไหว เฟื่องและดอกไม้เอวเป็นเครื่องประดับพระโกศ เป็นต้น และการตั้งพระโกศทองใหญ่ที่พระเมรุนั้นให้ตั้งแต่พระเมรุกลางเมือง ดังนั้น ถ้าหากพระราชทานเพลิงพระศพที่วัดจะพระราชทานพระโกศทองใหญ่เมื่อชักพระศพเท่านั้น นอกจากนี้ อาจมีการพระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพเมื่อคราวออกพระเมรุด้วย

จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าพระโกศทองใหญ่มีรูปโบราณไม่โปรด จึงโปรดให้กรมหมื่นณรงค์เรืองเดช เจ้านายผู้ทรงชำนาญในการช่างหล่อทรงแก้ไขเสียใหม่ พระโกศทองใหญ่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 3 องค์ โดยองค์แรกนั้นสร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ที่ 2 สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า พระโกศทองใหญ่ รัชกาลที่ 5 หรือพระโกศทองลองใหญ่



พระโกศทองใหญ่องค์ใหม่ทรงพระศพ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


ซึ่งพระโกศทั้ง 2 องค์ข้างต้นนั้น ผ่านการใช้งานจนอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระโกศทองใหญ่องค์ที่ 3 ขึ้น โดยนำมาใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เป็นพระองค์แรก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงการบรรจุพระบรมศพและพระศพลงในโลง แทนการลงพระโกศแล้ว อย่างไรก็ตาม พระโกศทองใหญ่ก็ยังคงใช้เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศของเจ้านายชั้นสูงอยู่ เช่นเดิม.


2.พระโกศทองเล็ก



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง๘ เหลี่ยม หุ้มด้วย ทองคำทั้งองค์ ฝายอดมงกุฎ ร.๕ ทรงพระกรุณาให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ สำหรับพระราชทานทรงพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า พระโกศทองเล็ก มีเบญจเศวตฉัตร( ฉัตร ๕ ชั้น ) แขวนเหนือพระโกศ


3.พระโกศทองน้อย



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ทรง ๘เหลี่ยม ยอดมงกุฎปิดทองทองประดับกระจก ทั้งองค์ ร.๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๔ สำหรับพระราชทานทรงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้า และพระอัครชายา


4.พระโกศกุดั่นใหญ่



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ทรง ๘ เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองล่อง ชาดประดับ กระจกสีสร้างใน ร.๑ สำหรับพระราชทาน ทรงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้า สมเด็จพระบรมวงศ์ สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า หรือสมเด็จพระสังฆราช


5.พระโกศกุดั่นน้อย



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ทรง ๘ เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจกสีสร้างในสมัย ร.๑ สำหรับพระราชทาน ทรงพระศพ พระบรมวงศ์ที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดี และ พระเจ้าบรมวงศ์ ที่ทรงอิสริยศักดิ์เป็นกรมหลวง และ ศพเจ้าจอมมารดา ที่ธิดาเป็นพระอัครมเหสี ข้าราชการ ที่ได้รับพระราชทานตรานพรัตนราชวราภรณ์ และ ที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


6.พระโกศมณฑป



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง ๔ เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑปปิดทองประดับกระจกสี สร้างในสมัย ร.๔ สำหรับ พระราชทานทรงศพพระเจ้าบรมวงศ์ พระองค์เจ้า และพระเจ้าวรวงศ์ พระองค์เจ้า ที่ทรงกรม ข้าราชการชั้นเสนาบดีที่เป็นราชสกุล


7.พระโกศราชวงศ์



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง ๔ เหลี่ยม ฝายอดทรงชฎาพอกปิดทองล่องชาดประดับ กระจกสี สร้างในสมัย ร.๔ สำหรับพระราชทาน ทรงพระศพพระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า


8.โกศไม้สิบสอง



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายย่อมุม ทรงพระศพหักเหลี่ยมทรงไม้สิบสอง ฝายอดทรงมงกุฎปิดทอง ประดับกระจกสีสร้างในสมัย ร. ๑ สำหรับพระราชทานทรงพระศพ พระราชวงศ์ ฝ่ายพระราชวังบวร พระวรวงศ์ พระองค์เจ้าที่ทรงรับราชการในตำแหน่งหน้าที่สำคัญ และสำหรับ พระราชทานประกอบโกศศพข้าราชการชั้นเสนาบดี เจ้าพระยา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง และรัฐมนตรีช่วยว่าการซึ่งถึงแก่กรรม ในขณะดำรงตำแหน่งหน้าที่อยู่นั้น และศพสมเด็จพระราชาคณะ


9.โกศแปดเหลี่ยม



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง ๘ เหลี่ยม ฝายอดทรงมณฑป ปิดทองล่องชาด ประดับกระจกสี สร้างในสมัย ร.๑ สำหรับพระราชทานประกอบโกศศพข้าราชการที่ได้รับพระราชทาน ตราปฐมจุลจอมเกล้า หรือประถมาภรณ์ช้างเผือก และ เจ้าพระยาชั้นสัญญาบัตร หรือรัฐมนตรีสั่งราชการ ที่ถึงแก่กรรม ในขณะที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่อยู่ เจ้าจอมมารดาและท้าวนางที่มีพระโอรสธิดาทรงกรม และ ที่ไม่ทรงกรม ซึ่งประกอบด้วยคุณงามความดี ในราชการและส่วนพระองค์ หม่อมห้ามของ พระบรมวงศ์ ที่เป็นสะใภ้หลวง พระราชาคณะชั้น หิรัญบัตร


10.โกศโถ



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายรูปกลม ฝายอดปริก ปิดทองประดับกระจกมีมาแต่ในสมัย ร.๑ สำหรับ พระราชทาน ประกอบ โกศศพ หม่อมห้าม พระบรมวงศ์ ซึ่งมีโอรสดำรงตำแหน่งเสนาบดี ศพท่านผู้หญิง ท.จ.ว. ท้าวนาง ข้าราชการที่ได้รับราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ มงกุฎไทย หรือผู้ที่เป็นรัฐมนตรีแต่ยังไม่มีตำแหน่ง เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการหรือสั่งราชการ และไม่ได้รับสายสะพาย ซึ่งถึงแก่กรรมในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีในเวลานั้น แต่ทั้งนี้ถ้าผู้นั้นเป็นราชสกุล ราชนิกุล ก็เปลี่ยนเป็นพระราชทานโกศราชนิกุล ประกอบโกศศพ


11.โกศราชนิกุล



ทำด้วยไม้แกะสลักลวดลายทรง ๔ เหลี่ยม ตัดมุมผ่าทรงชฎาปิดทองประดับกระจกสี สำหรับพระราชทาน ข้าราชการผู้เป็นราชสกุล ราชนิกุล ซึ่งมีเกียรติยศชั้นที่ได้รับพระราชทานโกศโถ ประกอบโกศศพ